คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 จะมิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้ แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อจำเลยใช้รถยนต์บรรทุกบรรทุกน้ำหนักเกินอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย รถยนต์บรรทุกจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบรถยนต์บรรทุกนั้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 ประกอบด้วยมาตรา 17
การที่ศาลพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางซึ่งโจทก์ขอให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 นั้น ศาลย่อมเห็นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดแม้จะมิได้ระบุบทกฎหมาย ก็มิใช่กรณีศาลพิพากษาไม่ชอบ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกดินซึ่งมีน้ำหนักบรรทุกเกินอัตราที่ได้กำหนดแล่นไปตามทางหลวงแผ่นดินอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28พฤศจิกายน 2515 ข้อ 56, 83 ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินลงวันที่ 14 ธันวาคม 2519 ข้อ 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33และขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน รถยนต์บรรทุกของกลางเห็นสมควรไม่ริบ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาข้อแรกสรุปได้ว่าเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายอาญามุ่งจะริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงรถยนต์บรรทุกของกลางมิใช่เป็นทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์องค์ประกอบโดยตรงของประกาศของคณะปฏิวัติ (จำเลยคงจะหมายถึงประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515) การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกดินซึ่งมีน้ำหนักยานพาหนะรวมน้ำหนักบรรทุกเกินกว่ากำหนดอันเป็นความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 และขอให้ศาลสั่งให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลาง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงฟังได้ว่า จำเลยได้ใช้รถยนต์บรรทุกของกลางบรรทุกน้ำหนักเกิน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย รถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่บุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) และแม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 255 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 จะมิได้บัญญัติถึงการริบของกลางไว้ แต่ก็มิได้บัญญัติถึงเรื่องนี้ไว้เป็นอย่างอื่น จึงนำมาตรา 33 นี้มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือไม่และการริบเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางนั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมเห็นแล้วว่ารถยนต์บรรทุกของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งโจทก์ขอให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบรถยนต์บรรทุกของกลางจึงเป็นไปตามกฎหมาย แม้จะมิได้ระบุบทกฎหมายก็มิใช่กรณีศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ชอบ…”
พิพากษายืน

Share