แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างเป็นภรรยาของผู้ตายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย โดยผู้ตายได้กับโจทก์ก่อน เมื่อผู้ตายแต่งงานกับจำเลยได้นำเงิน 6 ชั่งไปกองทุนกับจำเลย และต่อมาได้ทำมาหากินกับจำเลยจนเกิดทรัพย์พิพาทขึ้น เงิน 6 ชั่งย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย เมื่อนำไปใช้ทำทุนจนเกิดทรัพย์พิพาทขึ้น ถือได้ว่าสินสมรสที่โจทก์มีส่วน ได้คละปะปนกับสินสมรสของจำเลย โจทก์จึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์พิพาท
ให้แบ่งสินสมรสเป็น 3 ส่วน ผู้ตายได้ 2 ส่วน โจทก์และจำเลยได้ 1 ส่วน
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 28/2509)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เป็นภรรยาผู้ตายตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย และมีสินเดิมราคา ๗๐,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้ตายได้จำเลยเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ขณะผู้ตายตายมีทรัพย์รวม ๔๙๕,๕๐๐ บาท ซึ่งจำเลยครอบครองอยู่ โจทก์ขอหักสินเดิม ๗๐,๐๐๐ บาท และขอแบ่งสินสมรส ๒ ใน ๓ ส่วนของภาคภรรยาเป็นเงิน ๑๔๑,๘๓๒ บาท
จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอหักสินสมรสใช้สินเดิม และไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรส เพราะทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่จำเลยทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตาย ทรัพย์ของโจทก์มิได้มาปะปนด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าทรัพย์พิพาทเกิดขึ้นโดยจำเลยทำได้ร่วมกับผู้ตาย ไม่มีทรัพย์ของโจทก์ปะปนอยู่ด้วย โจทก์ไม่มีสิทธิขอหักสินสมรสใช้สินเดิม และไม่มีสิทธิขอแบ่งสินสมรส พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนได้ด้วย พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายได้โจทก์เป็นภรรยาก่อน แล้วจึงแต่งงานกับจำเลย โดยเอาเงิน ๖ ซึ่งไปกองทุนกับจำเลย และวินิจฉัยโดยมติที่ประชุมใหญ่ว่า เงิน ๖ ชั่งนี้เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย เมื่อผู้ตายเอาไปทำทุนทำมาหากินกับจำเลย ย่อมถือว่าทรัพย์คละปะปนกัน ต้องแบ่งส่วนสินสมรสให้เป็นของผู้ตาย ๒ ส่วน อีก ๑ ส่วนให้เป็นของโจทก์กับจำเลย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๕/๒๔๖๓ ระหว่างนางพลอยกับพวก โจทก์ นางกลีบ จำเลย พิพากษายืน