คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน ในเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามประเด็น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเป็นคำแถลงไม่ติดใจสืบพยานโดยมีเงื่อนไข เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานเป็นการไม่ชอบต้องให้คู่ความสืบพยานต่อไปจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่โจทก์แถลงต่อศาล โจทก์ย่อมนำพยานเข้าสืบตามประเด็นได้
คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในเรื่องหน้าที่นำสืบที่ว่าเป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบก่อนให้ได้ความตามข้อต่อสู้ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยกล่าวถึงวิธีพิจารณาที่ควรจะเป็นสำหรับรูปคดีไม่ใช่คำชี้ขาดในคดีไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอในคำฟ้องอุทธรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ 2 แปลง ถ้าที่ดินนั้นติดถนนซึ่งจะตัดผ่านยาว 4 เส้น ถ้าไม่ติดแนวถนนเช่นว่าจำเลยที่ 1 ยอมคืนเงินมัดจำและยอมใช้เบี้ยปรับให้แก่โจทก์อีก 1 เท่าของมัดจำ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อมาปรากฏว่าที่ดินไม่ติดแนวถนนที่จะก่อสร้าง จำเลยทั้งสองไม่คืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามสัญญา จึงขอให้บังคับให้ใช้พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสองให้การว่าทำสัญญากันจริง แต่โจทก์ชำระมัดจำให้จำเลยรับมาเพียง 20,000 บาท โดยได้ทำหลักฐานการชำระเงินให้จำเลยไว้ส่วนหนึ่งจะชำระให้ครบ 100,000 บาทตามสัญญาเมื่อได้รับแจ้งจากกรมทางหลวงแผ่นดินว่า ที่ดินอยู่ในแนวถนน 4 เส้นเสียก่อน หากไม่อยู่ในแนวจำเลยจะคืนเงิน 20,000 บาทให้และให้ถือว่าไม่มีความประสงค์จะซื้อขายที่ดินกันต่อไป ต่อมาปรากฏว่าที่ดินไม่อยู่ในแนวถนน 4 เส้น สัญญาจึงสิ้นผล โจทก์มีสิทธิเรียกคืนเฉพาะมัดจำที่มอบให้จำเลยเท่านั้น ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อพิพาทว่า

1.จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย ทำให้โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยทั้งสองกับเรียกมัดจำคืนหรือไม่

2. จำเลยรับเงินมัดจำจากโจทก์ไว้จำนวนเท่าใด

ให้โจทก์นำสืบก่อน

วันสืบพยานโจทก์คู่ความแถลงรับกันว่า สัญญาจะซื้อจะขายท้ายฟ้องถูกต้องไม่มีการซื้อขายที่ดินกันเพราะถนนไม่ตัดผ่าน ไม่ใช่เพราะจำเลยไม่ยอมขาย แต่คู่ความตีความหมายในสัญญาไม่ตรงกัน ขอให้ศาลตรวจดูสัญญาแล้ววินิจฉัยไปโดยไม่ต้องสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นด้วยในประเด็นข้อ 1 ส่วนประเด็นข้อ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามคำให้การ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

จำเลยคัดค้านว่าจำเลยมีสิทธินำพยานเข้าสืบ

โจทก์แถลงว่า เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามประเด็นข้อ 2 โจทก์ก็ไม่ติดใจสืบพยานในประเด็นข้อนี้

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าประเด็นข้อ 1 จำเลยไม่ผิดสัญญาประเด็นข้อ 2 แม้จำเลยจะไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบ แต่หน้าที่นำสืบตกอยู่แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จึงฟังได้เพียงเท่าที่จำเลยยอมรับพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับส่วนเรื่องเงินมัดจำนั้น ถ้าเป็นดังที่จำเลยให้การแล้ว ก็เท่ากับว่าได้มีการตกลงทำสัญญาอีกฉบับหนึ่งแก้ไขสัญญาเดิมเกี่ยวกับการวางเงินมัดจำ ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เป็นหน้าที่จำเลยต้องนำสืบก่อนให้ได้ความตามข้อต่อสู้ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานในประเด็นข้อนี้ไม่ถูกต้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเฉพาะในประเด็นเรื่องจำนวนเงินมัดจำที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้โจทก์ แล้วพิพากษาใหม่

จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์สืบพยานก่อน โจทก์ไม่คัดค้าน ต่อมาโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานประเด็นข้อ 2 โดยไม่ได้คัดค้านหน้าที่นำสืบที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ศาลอุทธรณ์จึงไม่ต้องกำหนดหน้าที่นำสืบใหม่ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานก็ต้องฟังว่าจำเลยได้รับเงินมัดจำไว้เพียง 20,000 บาท ขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยานนั้น โจทก์ได้แถลงกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่า โจทก์จะไม่ขอสืบพยานในเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามประเด็นข้อ 2 ด้วย ก็เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานไม่ชอบ ต้องให้คู่ความสืบพยานกันต่อไปเช่นนี้จึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขที่โจทก์แถลงต่อศาล คำแถลงของโจทก์ที่จะไม่สืบพยานจึงเป็นอันเสียเปล่า โจทก์ย่อมนำสืบพยานตามประเด็นข้อ 2 ได้ ส่วนปัญหาที่ว่าศาลอุทธรณ์กล่าวถึงหน้าที่นำสืบว่าจำเลยต้องสืบก่อนเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่นั้น เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในประเด็นข้อ 2 ใหม่ก็โดยเห็นว่า การงดสืบพยานไม่ชอบโดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) และ (2) เท่านั้น คำวินิจฉัยในเรื่องหน้าที่นำสืบเป็นเพียงกล่าวถึงวิธีพิจารณาที่ควรจะเป็นสำหรับรูปคดีเช่นนี้ไม่ใช่คำชี้ขาดในคดี จึงไม่ใช่การพิพากษาคดีเกินคำขอในคำฟ้องอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกา

พิพากษายืน

Share