คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กระบือที่จำเลยนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร ซึ่งต้องถูกริบตามพระราชบัญญัติศุลกากรนั้น หากผู้ร้องได้รับโอนกระบือนั้นไว้จากจำเลยภายหลังวันจำเลยกระทำผิด แม้จะโดยสุจริตก็ตาม ก็ถือได้ว่าในวันจำเลยกระทำผิดนั้น ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของกระบือนั้น จึงไม่เป็นเหตุที่จะให้กระบือนั้นรอดพ้นจากการถูกริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 34 ไปได้

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพคดีฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๐๔ จำเลยบังอาจนำกระบือ ๘ ตัว เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยหลีกเลียงภาษีอากร และนอกเส้นทางอนุมัติ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร ของกลางริบ คดีถึงที่สุดแล้ว
นายโอฮับ มูลลา ร้องต่อศาลชั้นต้นว่า กระบือของกลาง ๘ ตัวที่ศาลสั่งริบเป็นของผู้ร้อง มีตั๋วพิมพ์รูปพรรณลงวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๐๔ ขอให้ศาลไต่สวนสั่งคืนกระบือ ๘ ตัวนั้นแก่ผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ฟังว่าผู้ร้องซื้อกระบือของกลางไว้โดยสุจริต เมื่อได้นำกระบือนั้นเข้ามาในราชอาณาจักรไทยแล้ว และก่อนจำเลยถูกฟ้องคดีนี้ โดยผู้ร้องไม่มีส่วนรู้เห็นด้วยในการที่จำเลยนำกระบือเข้ามา ผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย ที่ได้สั่งริบกระบือไปนั้นผู้ร้องยังมิได้ขอเข้ามาในคดี มีคำสั่งให้คืนกระบือของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะได้ซื้อกระบือของกลางไว้โดยสุจริต แต่ตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า “ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ประกอบด้วยมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านให้ริบเสียทั้งสิ้น โดยมิพักต้องคำนึงว่าผู้ใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่” ซึ่งต้องหมายความว่า ผู้เป็นเจ้าของจะรู้เห็นในการกระทำผิดนี้ด้วยหรือไม่ พิพากษากลับ ให้ริบกระบือของกลางตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้ร้องฎีกา
ศษลฎีกาเห็นว่า ทางพิจารณาได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๐๔ จำเลยนำกระบือของกลาง ๘ ตัว จากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรและพาเข้านอกเส้นทางอนุมัติ ครั้นเมื่อวันที่ ๒๗ เดือนเดียวกัน ผู้ร้องได้รับซื้อกระบือ ๘ ตัว นี้ไว้โดยทำตั๋วพิมพ์รูปพรรณโอนขายกันโดยชอบด้วยกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่อำเภอ โดยแจ้งว่าเป็นกระบือลูกคอกเกิดในประเทศไทย ผู้ร้องรับซื้อไว้โดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นกระบือนำเข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมาย ดังนี้ ปัญหามีว่ากระบือของกลางต้องริบหรือไม่
ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องเองว่า ได้รับซื้อกระบือของกลางไว้เมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๐๔ ภายหลังวันที่จำเลยนำกระบือเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว ๑ วัน ฉะนั้นเมื่อจำเลยนำกระบือนั้นเข้ามา ผู้ร้องยังไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของกระบือ จึงจะถือว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกระบือซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๓๔ ไม่ได้ การที่ผู้ใดกระทำผิดกฎหมายศุลกากรแล้วโอนทรัพย์ของกลางในคดีให้แก่ผู้อื่นเสียภายหลัง แม้ผู้รับโอนจะกระทำไปโดยสุจริตก็ดี ก็ไม่เป็นเหตุที่จะให้ของกลางนั้นรอดพ้นจากการถูกริบได้ เพราะถ้าหากยอมให้เป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นของทางให้ผู้กระทำผิดใช้วิธีโอนกรรมสิทธิ์ไปก่อนถูกฟ้อง ทำให้ริบทรัพย์นั้นไม่ได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบกระบือของกลางจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share