แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองเพื่อขายตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 90 ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง, 106 วรรคสอง ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก 8 เดือน แม้จะเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำคุกจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219
แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การที่จำเลยฎีกาอ้างว่าการสอบสวนไม่ชอบ เนื่องจากพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนโดยการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม แก่จำเลยอีก ซึ่งจะเป็นจริงตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน ฎีกาข้อนี้ของจำเลย จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อขาย ขอให้ ลงโทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 16 และ 90 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และ 106 วรรคสอง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครอง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้
วัตถุออกฤทธิ์ที่จะริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 116 ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา 89 มาตรา 90 มาตรา 99 มาตรา 100 หรือมาตรา 101 ศาลมิได้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว จึงไม่อาจริบเฟนโพรพอเรกซ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 32 ให้ริบเสียทั้งสิ้น ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจริบเฟนโพรพอเรกซ์ของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 32
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๔๐ เวลากลางวัน จำเลยมีเฟนโพรพอเรกซ์อันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท ๔ จำนวน ๑,๑๗๖ เม็ด น้ำหนัก ๑๓๕.๗๐๐ กรัม ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมด้วยเฟนโพรพอเรกซ์ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุ ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๖, ๙๐, ๑๑๖ ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง, ๙๐ จำคุก ๓ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก ๒ ปี ริบของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง, ๑๐๖ วรรคสอง จำคุก ๑ ปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสาม คงจำคุก ๘ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๔ ไว้ในครอบครอง เพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง, ๙๐ ลดโทษให้หนึ่งในสาม แล้วคงจำคุก ๒ ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๔ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง, ๑๐๖ วรรคสอง ลดโทษให้หนึ่งในสามแล้วคงจำคุก ๘ เดือน แม้จะเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เป็นการเพิ่มเติมโทษจำคุกจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๒ ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ ที่จำเลยฎีกาว่า ตามเอกสารหมาย ล. ๓ พนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรี ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนมาให้พิจารณาสั่งฟ้อง จึงต้องห้าม มิให้มีการสอบสวนจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะทำให้ศาล ลงโทษจำเลยได้ ผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่ยึดได้ที่บ้านจำเลยไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีซึ่งน่าจะ ทำให้ศาลลงโทษจำเลยได้แต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนโดยแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่าจำเลย มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๔ ไว้ในครอบครองเพื่อขายอีก การแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลย จึงเป็นการสอบสวน ที่ไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่การที่จำเลยอ้างว่า การสอบสวนไม่ชอบเนื่องจากพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้ว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจที่จะสอบสวน โดยการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลยอีก ซึ่งจะเป็นจริงตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน ในสำนวน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมานั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยเพียงว่า ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเฟนโพรพอเรกซ์ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง และ ๑๐๖ วรรคสอง โดยโจทก์ไม่มีคำขอท้ายฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองของจำเลยเพื่อขาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๖ และ ๙๐ ซึ่งความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองโดย ไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๖๒ วรรคหนึ่ง และ ๑๐๖ วรรคสอง อยู่ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ใน ครอบครอง ศาลย่อมมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเฟนโพรพอเรกซ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่า ตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้ายได้
อนึ่ง วัตถุออกฤทธิ์ที่จะริบให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๑๖ นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการลงโทษตามมาตรา ๘๙ มาตรา ๙๐ มาตรา ๙๙ มาตรา ๑๐๐ หรือมาตรา ๑๐๑ เมื่อคดีนี้มิได้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว จึงไม่อาจริบเฟนโพรพอเรกซ์ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขได้ แต่วัตถุออกฤทธิ์ดังกล่าวผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ ให้ริบเสียทั้งสิ้น ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจริบเฟนโพรพอเรกซ์ของกลางได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบเฟนโพรพอเรกซ์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.