คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 6 เดือนมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกฐานรับของโจร ครั้งสองฐานลักทรัพย์ เมื่อพ้นโทษไปแล้วไม่ถึง 10 ปี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานลักทรัพย์จนศาลพิพากษาจำคุกเกินกว่า 6 เดือนอีก เช่นนี้ แม้ความผิดของจำเลยในครั้งแรกจะต่างกับสองครั้งหลังก็ตาม ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกัน จึงเข้าเกณฑ์ที่ศาลจะถือได้แล้วว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดติดนิสัยและพิพากษาให้กักกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจเป็นคนร้ายเข้าไปในบ้านนายบางแล้วลักเอาทรัพย์ต่าง ๆ ไปโดยทุจริต และก่อนคดีนี้จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาให้ลงโทษฐานรับของโ๗ร และลักทรัพย์ โทษจำคุกถึงที่สุดและเกินกว่า ๖ เดือนทั้งสองครั้ง หากศาลจะพิพากษาลงโทษจกคุกจำเลยไม่ต่ำกว่า ๖ เดือน ขอให้ลงโทษ เพิ่มโทษและกักกันด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ ให้ลงโทษจำคุกจำเลย ๑ ปี ๖ เดือน เพิ่มโทษตามมาตรา ๙๓ กึ่งหนึ่ง รวมเป็นจำคุกจำเลย ๒ ปี ๓ เดือน ปราณีลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๑ เดือน ๑๕ วัน และกักกันจำเลยมีกำหนด ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกโทษกักกัน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า ๖ เดือนมาแล้ว ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกในความผิดฐานรับของโจร ครั้งที่ ๒ ฐานลักทรัพย์ และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกิน ๑๗ ปีแล้วทั้งสองครั้ง เมื่อจำเลยพ้นโทษครั้งที่ ๒ ไปแล้วภายในเวลา ๑๐ ปี จำเลยกลับมาทำความผิดฐานลักทรัพย์จนศาลพิพากษาจำคุกเกินกว่า ๖ เดือนสำหรับการกระทำผิดครั้งที่สามนี้อีก เห็นว่า แม้ความผิดของจำเลยในครั้งแรกจะเป็นความผิดฐานรับของโจร มิใช่ลักทรัพย์เหมือนครั้งที่สองและครั้งที่สามก็ตาม แต่ความผิดของจำเลยทั้ง ๓ ครั้ง ก็เป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งอยู่ในประเภทเดียวกันกับที่ระบุไว้ในมาตรา ๔๓ (๘) แห่งประมวลกฎหมายอาญาทั้งสิ้น ความผิดของจำเลยที่ได้กระทำในคดีนี้จึงเข้าเกณฑ์ที่ศษลถือได้แล้วว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัย และพิพากษาให้กักกันจำเลยได้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลย

Share