แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยตกลงจะจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์นั้นก็เป็นการตกลงเพื่อให้ได้มาซึ่งภารจำยอมนั่นเอง จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น และโจทก์สามารถบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินของจำเลยให้เป็นทางเดินแก่ที่ดินของโจทก์ตามข้อตกลงในการทำสัญญาแบ่งแยกที่ดิน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์อ้างตัวเองและมีพันจ่าอากาศเอกไพสม เผ่านาค สามี นางสาวอุดมพร เผ่านาค บุตรเป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า เมื่อโจทก์สร้างบ้านเสร็จแล้ว โจทก์ทำทางเดินถาวรเป็นสะพานไม้เสาปูนลงในที่พิพาทผ่านออกสู่ทางสาธารณะตอนรังวัดแบ่งแยกที่ดิน จำเลยตกลงด้วยวาจาว่าจะจดทะเบียนที่พิพาทให้เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ ต่อมาตกลงว่าจะจดทะเบียนให้ในวันไปรับโฉนดที่แบ่งแยก และจำเลยยังมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 และจ.4 รับรองว่าจะจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ด้วย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง กลับทำรั้วปิดที่พิพาทและรื้อสะพานไม้ที่โจทก์ทำไว้ออกทำเป็นโรงรถยนต์ เอาสะพานไปไว้นอกรั้ว แล้วถมที่นอกรั้วและทำเขื่อนคอนกรีตตามแนวริมคลองบางจากอันเป็นที่สาธารณะ เพื่อให้โจทก์และบริวารใช้เป็นทางเดินไปสู่ทางสาธารณะ พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน นอกจากนี้จำเลยยังเบิกความว่า ในปีที่มีการแบ่งแยกที่ดินพยานคิดว่าจะทำถนนผ่านที่พิพาทออกไปต่อกับถนนสาธารณะเมื่อมีถนนสาธารณะผ่านมาทางนั้น นางไปล่ ไวยเจตน์ มารดาโจทก์จำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า โจทก์สร้างสะพานเดินผ่านในที่ดินของจำเลย และเมื่อจำเลยทำรั้ว จำเลยย้ายสะพานออกไปทำเป็นโรงรถ คำพยานจำเลยจึงเจือสมพยานโจทก์ให้เชื่อได้ว่าโจทก์ใช้ที่เป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะมาแต่เดิม และจำเลยตกลงจดทะเบียนที่พิพาท พิพาทให้เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ด้านใน เพื่อประโยชน์ที่จะใช้เป็นทางเดินผ่านไปสู่ทางสาธารณะ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยตกลงจะจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินแปลงที่จำเลยถม และทำเขื่อนริมคลองบางจากให้โจทก์นั้น เห็นว่าขัดต่อเหตุผล เพราะที่ตรงนั้นเป็นที่สาธารณะ ซึ่งจำเลยทำรุกล้ำเข้าไปจนถูกเปรียบเทียบปรับตามเอกสารหมาย จ.14 จำเลยจะมีสิทธิจดทะเบียนภารจำยอมได้อย่างไร พยานจำเลยไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังปัญหาต่อไปมีว่าการที่จำเลยตกลงจดทะเบียนที่พิพาทให้เป็นภารจำยอมแก่ที่ดินโจทก์นั้นจะมีผลบังคับจำเลยหรือไม่ เห็นว่าแม้ ภารจำยอมจะเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ซึ่งการได้มาจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม แต่การที่จำเลยตกลงจะจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์นั้นก็เป็นการตกลงเพื่อให้ได้มาซึ่งภารจำยอมนั้นนั่นเอง จำเลยจึงต้องผูกพันตามข้อตกลงนั้น และโจทก์สามารถบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้”
พิพากษายืน