แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ประเภทค่าจ้างรายเดือนแม้ขาดงานครึ่งวันผู้คัดค้านก็ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากผู้ร้องตราบเท่าที่ยังมีสัญญาจ้างกันอยู่ทั้งไม่ปรากฏมูลความผิดอาญาแต่อย่างใด การลาป่วยเท็จไม่ถือว่าเจตนาทุจริตเพื่อรับค่าจ้าง ผู้คัดค้านลาป่วยเท็จเพียงครึ่งวัน ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรับความเสียหายเป็นพิเศษ ยังไม่พอฟังได้ว่าผู้คัดค้านกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดทางอาญา หรือจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง อันเป็นกรณีร้ายแรงแต่อย่างใด.
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง และเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2534 ผู้คัดค้านขาดงานตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา จนถึง 12 นาฬิกา และต่อมาผู้คัดค้านได้ยื่นใบลาป่วยต่อผู้ร้องซึ่งเป็นการลาป่วยเท็จเพราะผู้คัดค้านไม่ได้ป่วยจริง การกระทำของผู้คัดค้านจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตเพื่อรับค่าจ้าง เป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อผู้ร้อง ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในกรณีร้ายแรง จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2534 เวลา8 นาฬิกา ถึง 12 นาฬิกา ผู้คัดค้านป่วยปวดศีรษะไม่สามารถไปทำงานได้ ผู้คัดค้านได้ลาป่วยต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องแล้ว เหตุที่ผู้ร้องต้องการเลิกจ้างผู้คัดค้าน เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจากับผู้ร้อง ผู้ร้องจึงหาเหตุกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลาง มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษนายดำรงค์ศักดิ์สอนศิลป์ กรรมการลูกจ้างผู้คัดค้านด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีแรงงาน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านลาป่วยเท็จถือว่าเจตนาทุจริตเพื่อรับค่าจ้าง และเป็นการกระทำผิดอาญาโดยเจตนาต่อผู้ร้อง ซึ่งเป็นนายจ้างเพราะคำว่า ค่าจ้างหมายความรวมถึงสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ ด้วยนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้อง ประเภทค่าจ้างรายเดือน แม้ขาดงานครึ่งวันผู้คัดค้านก็ยังมีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างจากผู้ร้องตราบเท่าที่ยังมีสัญญาจ้างกันอยู่ ทั้งไม่ปรากฏมูลความผิดอาญาแต่อย่างใด กรณีไม่เป็นไปดังข้อที่ผู้ร้องอ้าง
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้คัดค้านลาป่วยเท็จเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของผู้ร้องเกี่ยวกับระเบียบวินัยและโทษทางวินัยข้อ 1.3 และยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.14เรื่องการให้ออกจากงานข้อ 1 ถึง 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ก็สามารถมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านออกจากงานโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยใด ๆ ตามกฎหมายแรงงานนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏผู้คัดค้านลาป่วยเท็จเพียงครึ่งวันไม่ปรากฏว่าผู้ร้องรับความเสียหายเป็นพิเศษ ยังไม่พอฟังได้ว่า ผู้คัดค้านกระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดทางอาญา หรือจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย หรือฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง อันเป็นกรณีร้ายแรงแต่อย่างใดผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะลงโทษผู้คัดค้านด้วยการเลิกจ้าง ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษผู้คัดค้านด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.