คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่า เขาต้องถูกจับ จำเลยกับพวกมิได้บอกว่าโจทก์จะต้องถูกจับ เพียงแต่แจ้งว่า จะเอาไปสอบสวนคดีใหม่ และไม่ได้บอกด้วยว่าคดีอะไร โจทก์เข้าใจว่าเอาไปสอบสวนเพิ่มเติมคดีเรื่องโคของโจทก์หายที่เคยแจ้งความไว้ จึงได้ไปกับจำเลย ดังนี้ ถือว่าเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมายได้หาไม่
จำเลยเป็นตำรวจตำแหน่งสารวัตรใหญ่ โกรธแค้นโจทก์ที่มีหนังสือร้องเรียนถึงผู้กำกับฯ กล่าวหาว่า จำเลยรับสินบนจากผู้ต้องหา 2 คน ข้อหาลักทรัพย์ ของโจทก์แล้วสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาสองคนนั้น จำเลยกับตำรวจอื่นที่สถานีเดียวกัน ได้นำตัวโจทก์ไปอ้างว่า จะพาไปสอบสวนคดีใหม่ แต่พาโจทก์ไปที่บ้านพักตำรวจแห่งหนึ่ง แล้วทำร้ายโจทก์และใส่กุญแจมือแล้วพาโจทก์ไปที่ควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจ ดังนี้เป็นการกระทำที่ลุอำนาจและเกินความเหมาะสมในการจับกุม เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นไม่รอการลงโทษจำคุกแต่โทษคงเดิม ดังนี้จำเลยจะฎีกาข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 219 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2517 มาตรา 6

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นสารวัตรใหญ่ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นตำรวจประจำการได้นำตัวโจทก์ไปโดยอ้างว่าเพื่อสอบสวนคดีเพิ่มเติมกรณีโจทก์กล่าวหานายกิ่งกับพวก คนร้ายลักโคโจทก์ จำเลยกลับพาโจทก์ไปยังบ้านพักตำรวจแห่งหนึ่ง ซึ่งมีจำเลยที่ ๔ และที่ ๕ อยู่ แล้วจำเลยทั้งห้า ได้ร่วมกันเตะ ต่อย และถีบโจทก์ จนได้รับอันตรายแก่กาย แล้วใส่กุญแจมือโจทก์พาโจทก์ไปคุมขังไว้ที่สถานีตำรวจ ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕, ๓๑๐, ๑๕๗, ๘๓, ๙๐, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้ง ๕ ให้การปฏิเสธ แต่โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ ๒-๕ ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ จำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำรอไว้ ๒ ปี ข้อหาอื่นยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๑ ปี ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท ไม่รอการลงโทษจำคุก
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไม่รอการลงโทษ แต่โทษคงเดิม คดีต้องห้ามฎีกาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๙ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๘) พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๖ ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยให้ไม่ได้
ส่วนข้อหาตามมาตรา ๑๕๗ นั้นได้ความว่าจำเลยที่ ๑ กับพวกไปจับกุมโจทก์มาดำเนินคดีในข้อหาดูหมิ่นจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่โดยไปกล่าวหาร้องเรียนต่อผู้กำกับการฯ ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ ๑ ว่า จำเลยที่ ๑ รับสินบนจากนายเสนและนายแสนคนร้ายที่ลักโคของโจทก์ จำเลยกับพวกจึงไปจับกุมโจทก์ที่บ้าน แต่ในการจับนั้นจำเลยมิได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์จะต้องถูกจับตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๘๓ เพียงแต่แจ้งว่า จะเอาไปสอบสวนคดีใหม่ และไม่ได้บอกด้วยว่าคดีอะไร โจทก์เข้าใจว่าเอาไปสอบสวนเพิ่มเติมคดีเรื่องโคของโจทก์หายที่เคยแจ้งความไว้ จึงได้ไปกับจำเลย ดังนี้ ถือว่าเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมายได้หาไม่ ทั้งเมื่อจับกุมาโจทก์แล้วก็มิได้พาโจทก์ไปที่สถานีตำรวจ แต่กลับพาไปที่บ้านพักตำรวจห่างสถานีประมาณ ๑๐๐ เมตร แล้วร่วมกันทำร้ายโจทก์ และใส่กุญแจมือโจทก์ขึ้นรถพาโจทก์ไปที่อื่นแล้วจึงพากลับไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจ ดังนี้ เป็นการกระทำที่ลุอำนาจและเกินความเหมาะสมในการจับกุม กรณีมิใช่การใช้วิธีหรือความป้องกันเพราะเหตุถูกโจทก์ร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาจึงคิดทำร้ายโจทก์มาแต่ต้น กรณีต้องด้วยความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share