แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฎีกาของจำเลยที่ว่าคำเบิกความของพยานโจทก์แตกต่างกันเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องร้อง โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย แม้ในคำฟ้องโจทก์ระบุว่า จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของ ศ.ไม่ได้กล่าวถึงจำเลยลักทรัพย์ของว. ซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่เมื่อโจทก์ขอแก้คำฟ้องและศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องแล้วว่า สิ่งของที่ลักเป็นของ ว.ซึ่งอยู่ในความครอบครองของศ.ตรงกับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2525 มาตรา 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 335 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 335(3)(4)(7) วรรคสาม)พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พุทธศักราช 2525 มาตรา 11 ให้จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา218 ฎีกาของจำเลยที่ว่าคำเบิกความของพยานโจทก์แตกต่างกันเป็นพิรุธไม่น่าเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การร้องทุกข์การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยฎีกาว่าจากคำเบิกความของพยานโจทก์ในคดีนี้ สรุปได้ว่าบริษัทวงศ์ฤทธิ์ก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสียหาย ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้แก่นายณรงค์รักวงศ์ฤทธิ์ ซึ่งเป็นประธานบริษัทหรือมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปร้องทุกข์แทน การร้องทุกข์จึงไม่ชอบ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าความผิดฐานลักทรัพย์เป็นคดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงมีอำนาจยกคดีขึ้นว่ากล่าวฟ้องร้องได้ โดยมิจำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย…
สำหรับฎีกาข้อกฎหมายข้อต่อไปที่ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์ของนายศุภชัย รักวงษ์ฤทธิ์ผู้เสียหาย ไม่มีการกล่าวถึงจำเลยลักทรัพย์ของบริษัทวงศ์ฤทธิ์ก่อสร้าง จำกัด ผู้เสียหายในคดีนี้คือบริษัทวงศ์ฤทธิ์ก่อสร้าง จำกัดไม่ใช่นายศุภชัย รักวงษ์ฤทธิ์ นั้น เห็นว่าโจทก์ได้ขอแก้คำฟ้องและศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องแล้วว่าสิ่งของที่ลักเป็นของบริษัทวงศ์ฤทธิ์ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายศุภชัยรักวงษ์ฤทธิ์ ตรงกับคำฟ้องของโจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงไม่แตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง…”
พิพากษายืน.