คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแพ่งได้รับคำร้องของผู้ร้อง ส่งสำเนาให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้าน และได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมา จนกระทั่งมีการนัดไต่สวนพยานของผู้คัดค้านไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าศาลแพ่งได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) ให้อำนาจไว้แล้ว ศาลแพ่งชอบที่จะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติโดยไม่สามารถแสดงได้ว่าได้ทรัพย์สินมาในทางที่ชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวจำนวน69,767,380.27 บาทตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้คัดค้านทั้งสามยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 เวลา 9นาฬิกาวันที่ 16 มกราคม 2530 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้ได้กลายเป็นคดีมีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188(4) ขอให้ศาลดำเนินการชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทและหน้าที่นำสืบในวันนัดไต่สวนด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 มาตรา 20 วรรคท้าย ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ว่าตนได้ทรัพย์สินนั้นมาในทางที่ชอบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้คัดค้านต้องนำพยานมาไต่สวนก่อนคดีไม่จำต้องชี้สองสถาน นัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านตามกำหนดเดิม หมายแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบ ก่อนถึงวันนัดไต่สวนคือวันที่ 20 มกราคม 2530 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า ศาลได้ตรวจสำนวนคดีนี้อีกครั้งหนึ่งแล้ว เห็นว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยสั่งว่าทรัพย์สินต่างๆ ตามคำร้องขอเป็นของแผ่นดินซึ่งเป็นการร้องขอให้บังคับเอาแก่ตัวบุคคล คือผู้คัดค้านทั้งสามเป็นสำคัญ จึงเป็นคำร้องขอซึ่งไม่เกี่ยวด้วยทรัพย์ ต้องร้องขอต่อศาลที่ผู้คัดค้านมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลนั้น แต่ปรากฏตามคำร้องขอของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสามว่า ผู้คัดค้านทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเขตของศาลแพ่งธนบุรี ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งธนบุรี ไม่ชอบที่จะมาร้องขอต่อศาลนี้ซึ่งไม่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จึงให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้รับคำร้องขอของผู้ร้องเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา27 คืนคำร้องขอนี้ไปเพื่อให้ผู้ร้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้ผู้ร้อง ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมอย่างอื่นนอกจากนี้ให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจที่จะสั่งคืนคำร้องของผู้ร้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการพิจารณาต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์ทำนองเดียวกันว่า ศาลชั้นต้นจะสั่งให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลอื่นที่มีเขตอำนาจไม่ได้เพราะศาลแพ่งได้ใช้ดุลพินิจรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาแล้ว กับขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสาม และพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ แต่ภายหลังผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ไป ศาลอุทธรณ์อนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป
ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งศาลแพ่งที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องและคืนคำร้องให้ผู้ร้องไปยื่นต่อศาลแพ่งธนบุรีชอบหรือไม่ ปัญหานี้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่ฎีกา คงฎีกาเฉพาะผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2และได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าคดีนี้ศาลแพ่งได้รับคำร้องของผู้ร้อง ส่งสำเนาให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้าน และได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีการนัดไต่สวนพยานของผู้คัดค้านไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าศาลแพ่งได้ใช้ดุลพินิจยอมรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา14 (4) ให้อำนาจไว้แล้ว กรณีไม่มีการผิดระเบียบที่จะต้องเพิกถอนดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 บัญญัติไว้แต่อย่างใด คำสั่งศาลแพ่งที่สั่งเพิกถอนคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องและคืนคำร้องให้ผู้ร้องไปยื่นต่อศาลแพ่งธนบุรีจึงไม่ชอบ ชอบที่ศาลแพ่งจะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไปที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาเป็นข้อกฎหมายว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลที่จะร้องและไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ควรชี้ขาดในชั้นนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปชอบแล้ว ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share