คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้นถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดต่อนิติบุคคลเสียเองดังนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นย่อมได้รับความเสียหาย ถือได้ว่าเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28(2)ประกอบด้วยมาตรา 2(4)(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2503 ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เป็นประธานกรรมการ และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานการเงินจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันยักยอกเงินของบริษัทไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว จำเลยที่ 1ที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ไม่ยอมฟ้องตัวเอง โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีนี้ได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352,353, 354

ศาลชั้นต้นงดไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เป็นผู้จัดการหรือผู้แทนของบริษัทในอันที่จะดำเนินคดีอาญาแทนนิติบุคคลได้ จึงมิใช่ผู้เสียหายพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรณีความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5(3) บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทนนั้น ถ้าผู้จัดการหรือผู้แทนเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดต่อบุคคลเสียเอง ก็เห็นได้ชัดว่าจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง เมื่อเป็นดังนี้ ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น ซึ่งมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลย่อมได้รับความเสียหาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ก็บัญญัติว่า ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี ผู้ถือหุ้นฟ้องคดีได้ ดังนี้ถือได้ว่าผู้ถือหุ้นเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิฟ้องคดีอาญาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 28(2) ประกอบด้วยมาตรา 2(4) สำหรับคดีนี้ หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง โจทก์ผู้ถือหุ้นย่อมมีอำนาจฟ้องคดีได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1742/2503

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องและดำเนินการต่อไปตามกระบวนความ

Share