แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
รายจ่ายค่าติดตั้งสถานีวิทยุซึ่งตั้งขึ้นแล้วเป็นทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ และรายจ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเครื่องจักร และเตาเผาของบริษัทโจทก์ เป็นรายจ่ายที่บริษัทโจทก์จ่ายไปแล้วได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายเกิดเป็นทุนรอน หรือทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ถือว่าเป็นรายจ่าย อันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)
โจทก์มีหลักเกณฑ์จ่ายเงินส่วนลดให้แก่ผู้ซื้อปูนซิเมนต์ของโจทก์ทุกรายการตามอัตราที่กำหนดเป็นรายต้น กรมชลประทานซื้อปูนซิเมนต์จากโจทก์จำนวนหนึ่ง โจทก์จึงจ่ายเงินส่วนลดตามอัตราที่กรมชลประทานจะได้รับให้แก่สวัสดิการของกรมชลประทาน ซึ่งคณะข้าราชการในกรมชลประทานจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยเหลือข้าราชการในกรมนั้น มิได้จ่ายให้แก่กรมชลประทานผู้ซื้อ เพราะถ้าจ่ายแก่กรมชลประทาน เงินนั้นจะต้องตกเป็นของแผ่นดิน ดังนี้เมื่อโจทก์มิได้จ่ายให้แก่กรมชลประทานจึงมิใช่เป็นการจ่ายให้แก่ผู้ซื้อตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้ รายจ่ายนี้จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช้รายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (13) จึงไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตปูนซีเมนต์จำหน่าย เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยแจ้งว่า โจทก์จ่ายเงินค่าใช้จ่ายอันมีลักษณะเป็นทุน ซึ่งตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๕ ตรี (๕) ไม่ยอมให้ถือเป็นรายจ่ายหักจากกำไรสุทธิ และประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม โจทก์เห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะรายจ่ายดังกล่าวเป็นค่าติดตั้งสถานีวิทยุ ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วตกเป็นของกรมชลประทาน รายจ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเครื่องจักรและเตาเผา ซึ่งเป็นรายจ่ายประเภทเงินเดือน และเงินสมนาคุณที่โจทก์จ่ายให้แก่กรมชลประทาน ก็เป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์ใหส่วนลดในการที่กรมชลประทานซื้อปูนซิเมนต์จากโจทก์ จึงขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า รายจ่ายของโจทก์เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามประมวลรัษฎากร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับรายจ่ายค่าติดตั้งสถานีวิทยุทะเลหว้าเงิน ๒๗,๔๗๐ บาท ๙๙ สตางค์ โจทก์อ้างว่าเป็นรายจ่ายค่าแรงงานและค่าวัสดุ ซึ่งเมื่อติดตั้งสถานีวิทยุดังกล่าวเสร็จแล้วตกเป็นของกรมชลประทาน จำเลยต่อสู้ว่าเป็นสถานีวิทยุของโจทก์ ปัญหาจึงมีว่าสถานีวิทยุแห่งนี้เป็นทรัพย์สินของกรมชลประทานหรือของโจทก์ ข้อนี้โจทก์นำสืบรับว่า สถานีวิทยุแห่งนี้ได้สร้างตั้งแต่เริ่มสร้างโรงงานของโจทก์ และตั้งอยู่ในบริเวณโรงงานของโจทก์ที่ทะเลหว้า เพื่อใช้ในกิจการสั่งซื้อปูนซีเมนต์ของโจทก์เป็นส่วนใหญ่ตลอดมาจนบัดนี้ ส่วนกรมชลประทานได้ใช้ประโยชน์บ้างในบางโอกาส ตามใบอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมของกรมไปรษณีย์โทรเลข ดังเอกสารหมาย จ.๔๐ ก็ปรากฏชัดว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุแห่งนี้ขึ้น เพื่อบริการติดต่อประสานงานในการผลิตและการขนส่งปูนซิเมนต์ระหว่างบริษัทโจทก์กับโรงงานของบริษัทโจทก์ ถ้อยคำของนางโฉมฉายผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ให้การต่อนางสาวขวัญใจ ผู้ตรวจการสรรพากรเกี่ยวกับสถานีวิทยุแห่งนี้ ก็รับว่าบริษัทโจทก์ได้จ่ายเงินเป็นค่าแรงในการตั้งสถานีวิทยุทะเลหว้า ที่โรงงานของโจทก์ที่ตาคลี นครสวรรค์ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของบริษัท เป็นเงิน ๒๗,๔๗๐ บาท ๙๙ สตางค์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๔๙ ข้อ ๔.๒ ซึ่งถ้อยคำของนางโฉมฉายนี้ได้ให้การต่อนางสาวขวัญใจในโอกาสแรก และนางโฉมฉายเป็นสมุห์บัญชีผู้ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ ย่อมจะรู้เรื่องนี้ดี และไม่ปรากฏว่าถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด จึงน่าเชื่อถือในถ้อยคำเป็นความจริงตามที่ให้การไว้ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ ๑ มีหนังสือสอบถามขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการติดตั้งสถานีวิทยุทะเลหว้าที่โรงงานของโจทก์ ไปยังกรมชลประทาน กรมชลประทานก็ได้ตอบยืนยันให้จำเลยที่ ๑ ทราบว่า สถานีวิทยุทะเลหว้าดังกล่าวเป็นของโจทก์ กรมชลประทานเป็นเพียงผู้ประกอบติดตั้งให้เท่านั้น และค่าใช้จ่ายในการนี้เป็นของโจทก์ คิดเป็นเงิน ๒๗,๔๗๐ บาท ๙๙ สตางค์ ซึ่งตรงกับจำนวนเงินที่นางโฉมฉายให้การไว้ต่อนางสาวขวัญใจ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๗๐ ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีข้อความชัดแจ้งอยู่แล้ว หาใช่ข้อความไม่กระจ่างชัดแจ้งดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาข้างต้น ย่อมเห็นได้ว่าบริษัทโจทก์ใช้จ่ายไปแล้วได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายจนบังเกิดเป็นทุนรอนของบริษัทขึ้นมา อันถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัท สถานีวิทยุทะเลหว้าที่พิพาทในคดีนี้จึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าการซ่อมเครื่องรับส่งวิทยุต้องขออนุมัติกรมชลประทาน และกรมชลประทานสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานล่วงเวลา แสดงว่าสถานีวิทยุดังกล่าวปฏิบัติการและอยู่ในความควบคุมดูแลของกรมชลประทาน เครื่องรับส่งวิทยุต้องเป็นของกรมชลประทานนั้นเห็นว่าขณะนั้นหม่อมหลวงชูชาติ กำภู เป็นอธิบดีกรมชลประทานและเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ด้วย ย่อมจะใช้อำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ในกรมชลประทานทำอะไรก็ได้และเจ้าหน้าที่ที่ถูกสั่งให้ไปทำงานล่วงเวลานั้นก็ได้ความว่า ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าพาหนะจากโจทก์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๑๐๙ ถึง จ.๑๑๒ และถ้าสถานีวิทยุทะเลหว้าเป็นของกรมชลประทานจริง ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุผลอันใดที่กรมชลประทานจะนำทรัพย์สินของทางราชการไปให้บริษัทโจทก์ใช้เป็นประโยชน์ในกิจการของโจทก์ได้ และเมื่อโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ในการทำงานล่วงเวลาด้วยแล้ว ย่อมยากที่จะรับฟังได้ว่าสถานีวิทยุทะเลหว้าเป็นของกรมชลประทาน เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่า สถานีวิทยุทะเลหว้าเป็นทรัพย์สินของโจทก์ จึงเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๕) ฎีกาที่โจทก์อ้างรูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้
ส่วนรายจ่ายค่าติดตั้งเครื่องจักรในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ และ พ.ศ. ๒๕๐๐ เงิน ๑,๖๖๕,๓๑๐ บาท ๖๕ สตางค์ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ เงิน ๒๖๐,๑๗๖ บาท ๖๐ สตางค์ รวมเป็นเงิน ๑,๙๒๕,๔๘๗ บาท ๒๕ สตางค์นั้น เห็นว่ารายจ่ายค่าติดตั้งเครื่องจักรเงิน ๑,๖๖๕,๓๑๐ บาท ๖๕ สตางค์ โจทก์นำสืบว่าเป็นค่าใช้จ่ายอำนวยการของโจทก์ที่สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ ปรากฏรายจ่ายตามรายการดังเอกสารหมาย จ.๔๑ ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายของผู้เชี่ยวชาญบริษัทกรุ๊ปตามสัญญาซื้อขาย และค่าแรงงานที่แท้จริงของผู้เชี่ยวชาญอยู่ในเอกสารหมาย จ.๗๖ และ จ.๗๗ แต่ตามฟ้องโจทก์อ้างว่า เป็นรายจ่ายประเภทเงินเดือน ซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบการติดตั้งเครื่องจักร การที่โจทก์นำสืบแตกต่างกับฟ้องเช่นนี้ จึงน่าเชื่อว่าเป็นรายจ่ายคนละรายกับที่จำเลยประเมินเรียกเก็บจากโจทก์ และคำให้การของนางโฉมฉายตามเอกสารหมาย ล.๔๙ นางโฉมฉายก็รับว่าเงิน ๑,๖๖๕,๓๑๐ บาท ๖๕ สตางค์ เป็นค่าจ้างของผู้เชี่ยวชาญบริษัทกรุ๊ปที่มาติดตั้งเครื่องจักร จึงเชื่อได้ว่ารายจ่ายเงิน ๑,๖๖๕,๓๑๐ บาท ๖๕ สตางค์ ตามเอกสารหมาย จ.๔๑ (ซึงมีรายละเอียดตามบัญชีดังเอกสารหมายเลข จ.๔๒ และ จ.๔๓) นั้น เป็นรายจ่ายของผู้เชี่ยวชาญบริษัทกรุ๊ปที่มาติดตั้งเครื่องจักร ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว และรายจ่ายค่าติดตั้งเตาเผาในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ เงิน ๓๗,๖๒๑ บาท ๗๙ สตางค์ และในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ เงิน ๒๘๘,๖๗๖ บาท ๙๖ สตางค์ นั้น ตามคำให้การของนางโฉมฉายตามเอกสารหมาย ล.๔๙ ก็รับว่าเป็นค่าจ้างผู้เชี่ยวชาญบริษัทผู้ขาย คือบริษัทคูทินโฮ คาโร จำกัด (coutinho caro & co) ที่มาติดตั้งเตาเผา และตามที่โจทก์นำสืบได้ความว่า เป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่นายคาร์ปินสกี้กับนายป๊อบเชล ในการติดตั้งเตาเผา เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟังได้ว่าเป็นรายจ่ายของผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเตาเผาจริง เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า เป็นรายจ่ายของผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งเครื่องจักร และเตาเผา จึงเป็นรายจ่ายที่บริษัทโจทก์จ่ายไปแล้วได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายที่บังเกิดเป็นทุนรอง หรือทรัพย์สินของบริษัทโจทก์ จึงถือว่าเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๕) เช่นเดียวกัน
ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า รายจ่ายเงินสมนาคุณ ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท เป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ จึงไม่อยู่ในบังคับประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ ตรี (๑๓) ซึ่งเป็นรายการที่ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินั้น ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์จ่ายส่วนลดให้แก่ผู้ซื้อทุกรายในอัตราตันละ ๒๐ บาท กรณีนี้กรมชลประทานเป็นผู้ซื้อปูนซิเมนต์จำนวน ๘๐,๐๐๐ ตัน จากโจทก์ คิดเป็นเงินส่วนลด ๑,๖๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์มิได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กรมชลประทานผู้ซื้อเลย เพราะถ้าจ่ายให้แก่กรมชลประทานแล้วเงินก็ต้องตกเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะไปตกเป็นของผู้อื่นหาได้ไม่ การที่โจทก์จ่ายเงินให้แก่สวัสดิการของกรมชลประทาน เพื่อช่วยเหลือข้าราชการในกรมชลประทานตามที่คณะข้าราชการในกรมชลประทานจัดตั้งขึ้น โดยไม่จ่ายให้แก่กรมชลประทาน จึงมิใช่เป็นการจ่ายให้แก่ผู้ซื้อตามหลักเกณฑ์ที่โจทก์วางไว้สำหรับการจ่ายให้แก่ผู้ซื้อปูนซิเมนต์ของโจทก์ รายจ่ายนี้จึงเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช้รายจ่าย เพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๖๕ ตรี (๑๓) จึงไม่อาจถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เหตุผลที่โจทก์หยิบยกขึ้นอ้างมาในฎีกา ไม่อาจเปลีย่นแปลงแก้ไขให้วินิจฉัยเป็นอย่าอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน