แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่1เมื่อวันที่27เมษายน2537จำเลยที่1อุทธรณ์คำสั่งในวันที่17มิถุนายน2537แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เนื่องจากมิได้อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกรณีจึงต้องถือว่าจำเลยที่1ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การของจำเลยที่1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา228วรรคสองแล้วฉะนั้นจำเลยที่1จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเดียวกันภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดีตามวรรคท้ายแห่งมาตราดังกล่าวไว้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินออกจากอาคารเลขที่ 85 ซอยรางน้ำ ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร และใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือน เดือนละ 95 บาทซึ่งเท่ากับอัตราค่าเช่าที่นายสมเกียรติเคยชำระให้แก่การเคหะแห่งชาติ นับแต่วันที่ 27 กันยายน 2533จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 41 เดือน เป็นเงิน 3,895 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายในอัตราดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะขนย้ายสิ่งของหรือทรัพย์สินออกจากอาคารเลขที่ 85
ประกาศกระทรวงยื่นคำร้องของให้เรียกสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกไปจากอาคารเลขที่ 85 ซอยรางน้ำ ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวีกรุงเทพมหานคร และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 3,895 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 95 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะออกไปจากอาคารเลขที่ 85 ดังกล่าว
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 จำเลยที่ 1ย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2537 หรืออุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาคดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2537จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 228 ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 บัญญัติว่า”ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
ฯลฯ
(3) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา 18 หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตาม มาตรา 24 ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ
คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป
ฯลฯ
ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ก็ให้อุทธรณ์ได้เมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามในมาตรา 223”
ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2537 แล้ว จำเลยที่ 1ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันที่ 17 มิถุนายน 2537 แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เนื่องจากมิได้อุทธรณ์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ดังนี้ กรณีจึงต้องถือว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 วรรคสองแล้ว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งเดียวกันภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดีตามวรรคสุดท้ายแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวอีก ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีนี้ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224เพราะไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 บัญญัติว่า “ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ฯลฯ
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัวและคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เว้นแต่ในคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาท หรือไม่เกินจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ฯลฯ”
พิจารณาคำฟ้องของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากอาคารพิพาท ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 95 บาท เท่ากับค่าเช่าอาคารพิพาท41 เดือน เป็นเงินรวม 3,895 บาท และอีกเดือนละ 95 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกจากอาคารดังกล่าว จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆออกจากอสังหาริมทรัพย์อันอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละสี่พันบาทการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์โต้แย้งว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้น เป็นอุทธรณ์โต้เถียงในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้ยกอุทธรณ์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน