คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16750/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมผู้บริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีวัตถุประสงค์รับเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์และเก็บผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกันของลูกหนี้ รายบริษัทคันทรี่ฯ ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้กับ (บสท.) โดยผ่านกระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทคันทรี่ฯ แล้วขายคืนให้แก่นิติบุคคลทั้งสามที่ลูกหนี้เสนอซื้อก็เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ (บสท.) เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ของโจทก์เป็นการขายแทน บสท. เมื่อ บสท. ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรจากกฎหมายทั้งปวงในการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เลขที่ ภธ.73.1 – 01003140 – 25501010 – 006 – 00001 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2550 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ สภ.1 (0ธ.1)/87/2551 หรือพิจารณางดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า บริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้และมีหนี้ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์รัตนสิน จำกัด และธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2544 บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2544 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับโอนหนี้ของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจาก 4 สถาบันการเงินตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 โดยมีภาระหนี้เป็นเงินต้น 8,936,328,633.62 บาท และดอกเบี้ยค้างรับตามสิทธิ 4,152,230,543.90 บาท หนี้ดังกล่าวมีหลักทรัพย์จำนองเป็นประกันหนี้ คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 376, 9678, 13438 และ 18007 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินโฉนดเลขที่ 377 และ 6426 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ห้องชุดเลขที่ 87/1-87/60 และ 88/1-88/180 อาคารชุดคันทรี่ มาริน่าริเวอร์ คอนโดวิว ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 6990 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินโฉนดเลขที่ 373 ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2547 ที่ประชุมผู้บริหารของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีมติให้ตั้งบริษัทโจทก์และให้ผู้บริหารของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของโจทก์ โดยจัดตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ตามข้อ 6.3.1 (2) (ข) ของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2547 โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการคันทรี่มารีน่าซิตี้ซึ่งเป็นหลักประกันในการชำระหนี้โดยติดจำนองในราคา 836,500,000 บาท ตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันโดยปลอดจำนองให้แก่บริษัทมายคันทรี่ จำกัด บริษัทมายสมุย จำกัด บริษัทวันพลัส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ในราคา 866,149,914.38 บาท ตามเงื่อนไขของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกับบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และแผนฟื้นฟูกิจการ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะจากเจ้าพนักงานประเมินว่า ในเดือนธันวาคม 2547 โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 44,896,841.82 บาท เบี้ยปรับ 89,793,683.64 บาท เงินเพิ่ม 22,897,389.33 บาท และภาษีส่วนท้องถิ่น 15,758,791.48 บาท รวมเป็นเงิน 173,346,706 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ตามมาตรา 29 วรรคสอง และมาตรา 43 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ประชุมผู้บริหารของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้มีมติจัดตั้งบริษัทโจทก์ขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์รับจัดการดูแลผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกันของลูกหนี้รายบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หลังจากจัดตั้งบริษัทโจทก์ โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันโดยติดจำนองตามแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง โจทก์จึงมีสถานะเป็นลูกหนี้จำนองตามแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ได้ใช้สิทธิซื้อคืน โจทก์ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันโดยปลอดจำนองให้แก่นิติบุคคลทั้ง 3 บริษัท ที่ลูกหนี้เสนอชื่อ เป็นการชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ดังนั้น โจทก์จึงเป็นบริษัทเฉพาะกิจและเป็นตัวแทนในการดำเนินงานของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 29 วรรคสอง และมาตรา 43 นั้น
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เห็นว่า เมื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ข้อ 6.3.1 (2) (ข) ที่กำหนดให้บริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์โครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันกลุ่มที่ 1 คือ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ โดยการโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ในลักษณะติดจำนองให้แก่โจทก์ซึ่งจะจัดตั้งโดยผู้บริหารแผนและผู้ถือหุ้นทั้งหมดโดยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ บริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีสิทธิซื้อคืนทรัพย์หลักประกันจากเจ้าหนี้ได้ในราคาที่โอนทรัพย์ชำระหนี้บวกด้วยดอกเบี้ยอัตราเอ็มแอลอาร์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) คำนวณนับตั้งแต่วันที่โอนทรัพย์ชำระหนี้จนถึงวันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในการขายทรัพย์หลักประกันคืนแก่บริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้การดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลล้มละลายกลางดำเนินการต่อไปได้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโดยที่ประชุมผู้บริหารจึงมีมติจัดตั้งบริษัทโจทก์ขึ้น โดยมีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยถือหุ้น 994 หุ้น ส่วนผู้บริหารของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยถือหุ้นคนละ 1 หุ้น รวมเป็น 1,000 หุ้น และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนทรัพย์หลักประกันในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ และจัดเก็บผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกัน หลังจากโจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันแล้ว บริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ลูกหนี้ได้ใช้สิทธิซื้อคืนโดยเสนอชื่อ บริษัทมายคันทรี่ จำกัด บริษัทมายสมุย จำกัด และบริษัทวันพลัส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด มายังบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งตามวาระการประชุมคณะกรรมการบริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยครั้งที่ 39/2548 วาระที่ 4.0.1 ขออนุมัติดำเนินการโอนขายคืนทรัพย์สินโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโอนขายคืนทรัพย์ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยให้ผู้ซื้อคืนทรัพย์หลักประกันโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ชำระราคาคืนตามที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ โดยให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยรับชำระค่าซื้อคืนทรัพย์หลักประกันด้วยตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทวันพลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งอาวัลโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และปราศจากเงื่อนไขในการจ่ายเงิน สั่งจ่ายในชื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมีกำหนดใช้เงินไม่เกิน 1 ปี นับจากวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในการขายทรัพย์โครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ คืน โดยระบุจำนวนเงินเท่ากับราคาซื้อคืนทรัพย์จำนวน 836,500,000 บาท บวกด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2.75 ต่อปี คำนวณนับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในการขายหลักประกันดังกล่าวคืนจนถึงวันที่กำหนดใช้เงินตามที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงิน ก่อนดำเนินการไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดำเนินการออกหนังสือถึงธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ยืนยันการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน เมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินแล้ว ให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไถ่ถอนจำนองทรัพย์หลักประกันและให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์โครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ให้แก่บริษัทที่ลูกหนี้เสนอชื่อ โดยให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตามจำนวนเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ขายมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย และหักคืนเงินที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยทดรองจ่ายดังกล่าวจากรายรับที่ได้จากการขายทรัพย์สินโครงการคันทรี่มารีน่า ซิตี้ และนำเงินส่วนที่เหลือนำไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนอง บริษัทที่ลูกหนี้เสนอชื่อจะชำระ แสดงให้เห็นว่าการที่โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันโดยปลอดจำนองให้แก่นิติบุคคลทั้งสามบริษัทที่ลูกหนี้เสนอชื่อ เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยกับบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) โจทก์เป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท และไม่ได้ประกอบกิจการอื่นใดนอกจากการรับโอนและขายคืนทรัพย์หลักประกันในคดีนี้ ทั้งมีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเป็นผู้ถือหุ้น 994 หุ้น กับมีที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่แห่งเดียวกับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ประกอบกับเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายคืนทรัพย์หลักประกัน โจทก์ก็นำไปชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเจ้าหนี้ผู้รับจำนอง โดยไม่มีกระแสเงินสดของการขายทรัพย์หลักประกันผ่านเข้าบริษัทโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น การดำเนินการของโจทก์ที่รับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ซึ่งเป็นทรัพย์หลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทคันทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แล้วขายคืนให้แก่นิติบุคคลทั้งสามที่ลูกหนี้เสนอชื่อก็เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์หลักประกันของลูกหนี้ของโจทก์เป็นการขายแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เมื่อบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรจากกฎหมายทั้งปวงในการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 43 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย จำเลยจึงไม่อาจประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยชอบแล้ว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเลขที่ ภธ. 73.1 – 01003140 – 25501010 – 006 – 00001 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2550 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (0ธ.1)/87/2551 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share