แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาอำนาจฟ้องยุติ คงมีปัญหาเพียงว่าที่พิพาทเป็นของผู้ตายใส่ชื่อจำเลยไว้แทนหรือเป็นของจำเลยจำเลยแก้ฎีกาว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้แก้อุทธรณ์โต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ และขอถือว่ามีประเด็นข้อนี้ในชั้นฎีกาด้วย ซึ่งถูกต้องตามคำแก้ฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ด้วย ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยประเด็นอำนาจฟ้องของโจทก์ให้
โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเรียกร้องให้จำเลยคืนที่พิพาทเพื่อจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรมของผู้ตาย ช. ผู้จัดการมรดกร่วมอีกคนหนึ่งไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องด้วย เพราะ ช. เป็นภริยาจำเลย เป็นผู้รับโอนที่พิพาทแทนจำเลยและเป็นพยานจำเลยด้วย แสดงชัดว่า ช. ไม่ต้องการฟ้องจำเลย ดังนี้ โจทก์ทั้งสองย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1715 วรรคสอง และเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่จะฟ้องได้ในระหว่างจัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1736
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นางสาวบุตรี กรลักษณ์ ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินตราจองเลขที่ 532 ให้แก่นางจิราภรณ์ ชิตานนท์ ที่ดินแปลงนี้นางสาวบุตรี กรลักษณ์ ได้ซื้อไว้จากหมอจำลอง ต่อมานางสาวบุตรีมีกรณีพิพาทกับบุคคลอื่น เพื่อป้องกันที่ดินแปลงนี้ นางสาวบุตรีจึงโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อนายพยง กรลักษณ์ เป็นผู้ซื้อไว้แทน ซึ่งความจริงใส่ชื่อนายพยง กรลักษณ์ ไว้แทน และนายพยง กรลักษณ์ได้เซ็นชื่อในใบมอบอำนาจให้ไว้เพื่อโอนต่อไปยังจำเลย และได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ใส่ชื่อจำเลยในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นการโอนใส่ชื่อไว้แทนเช่นเดียวกัน ขณะที่ใช้ใบมอบอำนาจนั้น นายพยง กรลักษณ์ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว การโอนจึงไม่สมบูรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาว่านางสาวบุตรี กรลักษณ์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ให้ทำลายการโอนใส่ชื่อจำเลยในที่ดินพิพาท หรือให้โอนใส่ชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องนางสาวบุตรีมิได้เป็นผู้ซื้อจำเลยออกเงินซื้อเอง โดยลงชื่อนางสาวบุตรีแทน ต่อมานางสาวบุตรีได้ขายที่ดินนี้ให้นายผยง กรลักษณ์ โดยไม่บอกจำเลยแต่นายผยงกรลักษณ์ รู้ว่าที่ดินนี้เป็นของจำเลย จึงทำพินัยกรรมยกให้จำเลยและได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้แทนไว้เพื่อจัดการโอน แม้การโอนจะทำภายหลังนายผยงตาย ที่ดินก็ตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมตั้งแต่นายผยงตาย จำเลยครอบครองที่ดินมากว่า 10 ปี โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะหม่อมหลวงชมัยผู้จัดการมรดกอีกคนหนึ่งมิได้ฟ้องด้วย อำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินพิพาทเป็นของนางจิราภรณ์ไม่ใช่อำนาจของผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง และนางสาวบุตรีเป็นผู้ซื้อที่พิพาทแล้วโอนขายให้นายผยง นายผยงทำพินัยกรรมยกให้จำเลยได้พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า ปัญหาอำนาจฟ้องยุติ คงมีปัญหาเพียงว่าที่พิพาทเป็นของนางสาวบุตรีใส่ชื่อจำเลยไว้แทนหรือเป็นของจำเลย ฝ่ายจำเลยแก้ฎีกาว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยได้แก้อุทธรณ์โต้แย้งอำนาจฟ้องของโจทก์ไว้ และขอถือว่ามีประเด็นข้อนี้ในชั้นฎีกาด้วย ซึ่งถูกต้องตามคำแก้ฎีกาของจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอำนาจฟ้องของโจทก์ ซึ่งมีประเด็นในชั้นอุทธรณ์ด้วยศาลฎีกาจำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ให้ โดยวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวบุตรี เรียกร้องให้จำเลยคืนที่พิพาทเพื่อจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรมของนางสาวบุตรีการที่หม่อมหลวงชมัยผู้จัดการมรดกร่วมไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องด้วยก็เพราะหม่อมหลวงชมัยเป็นภริยาจำเลย เป็นผู้รับโอนที่พิพาทแทนจำเลย และเป็นพยานจำเลยด้วย แสดงชัดว่าหม่อมหลวงชมัยไม่ต้องการฟ้องจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1715 วรรค 2 จำเลยตัดฟ้องอีกข้อหนึ่งว่าอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์พิพาทเป็นของนางจิราภรณ์ผู้จัดการมรดกไม่มีอำนาจฟ้อง นั้นไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, 1736 ผู้จัดการมรดกมีอำนาจฟ้องได้ในระหว่างจัดการมรดก แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่าหลักฐานพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่านางสาวบุตรีโอนที่พิพาทให้นายผยงถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนนางสาวบุตรีตามฟ้อง
พิพากษายืน