แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยฟ้องโจทก์ไว้แล้วในคดีดำที่ 1533/2512 ให้รับผิดฐานละเมิด โดยอ้างว่าโจทก์ให้ผู้ก่อสร้างรื้ออาคารที่ถูกไฟไหม้ออกจากที่ดินโจทก์ และนำเศษอิฐ ปูน และวัตถุก่อสร้างเอาไปกองไว้ในที่ดินจำเลย. และโจทก์ได้ทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินโจทก์เต็มตามเขตโฉนด ไม่เว้นทางเดิน ซึ่งตกเป็นภารจำยอมสำหรับที่ดินจำเลย เป็นการปิดทางภารจำยอม ขอให้ใช้ค่าเสียหายและเปิดทางภารจำยอม คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา โจทก์กลับฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้และจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีกับฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดฐานละเมิด ทำนองเดียวกับที่กล่าวอ้างในคดีดำที่ 1533/2512เพียงแต่ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกบางประการ คือ ค่าหน้าดินและค่าเช่าตึกเท่านั้น ดังนี้ เห็นได้ว่าการกระทำที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้กระทำละเมิดนั้น เป็นการกระทำอย่างเดียวกัน ทำในคราวเดียวกันแม้จะได้ความต่อมาว่าโจทก์ได้ทำการก่อสร้างตึกทับทางภารจำยอมจนเสร็จบริบูรณ์ ก็เป็นการกระทำที่สืบเนื่องติดต่อกันมากับการกระทำเดิม มิได้กระทำการอื่นใดอันถือว่าเป็นการละเมิดใหม่ต่อจำเลย และความเสียหายที่จำเลยอ้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในคำฟ้องแย้ง ก็ได้ความจากฟ้องแย้งนั้นเองว่า เมื่อโจทก์เริ่มกระทำละเมิดต่อจำเลยนั้น จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยควรเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีเดิมได้ ฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งดำที่ 1533/2512. ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ 25 มีนาคม 2512 จำเลยฟ้องโจทก์ตามคดีแพ่งดำที่ 1533/2512 ให้ระงับการก่อสร้างตึกแถวซึ่งโจทก์กำลังก่อสร้างในที่ดินโจทก์โฉนดที่ 2565, 2567 เป็นการแกล้งฟ้องโดยรู้ว่าไม่มีมูล โจทก์เสียหาย ขอให้ใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่า โจทก์ให้ผู้ก่อสร้างรื้ออาคารที่ถูกไฟไหม้ในที่ดินโจทก์ และจำเลยออก และนำเศษอิฐปูนเข้าไปกองในที่ดินจำเลย ทำให้จำเลยเสียหาย ก่อสร้างในที่ดินจำเลยไม่ได้ ขาดประโยชน์ที่จะได้รับเป็นค่าหน้าดิน และค่าเช่าอาคารที่จะสร้างขึ้น จำเลยจึงฟ้องโจทก์ตามคดีดำที่ 1533/2512 ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายคือ ค่าหน้าดิน 30,000 บาท ค่าเช่าอาคารที่จะสร้างขึ้นอีกเดือนละ 360 บาท นับแต่วันฟ้องแย้ง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะได้ฟ้องโจทก์ในมูลกรณีเดียวกันนี้ ตามคดีแพ่งดำที่ 1533/2512 คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำฟ้องแย้งไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีดำที่1533/2512 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้จำเลย 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องแย้งไม่เป็นฟ้องซ้อน และเห็นว่าค่าเสียหายคือค่าเช่าตึกห่างไกลกับความจริง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยเสียหาย คงฟังว่าจำเลยเสียหายค่าหน้าดิน 30,000 บาท พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องแย้งจำเลยเกี่ยวกับค่าเช่าตึก
โจทก์ฎีกา
ทางพิจารณาได้ความว่า เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่ง ให้รับผิดฐานละเมิดโดยอ้างว่าโจทก์ให้ผู้ก่อสร้างรื้ออาคารที่ถูกไฟไหม้ออกจากที่ดินโจทก์ และนำเศษอิฐ ปูน และวัสดุก่อสร้างเข้าไปกองไว้ในที่ดินจำเลย และโจทก์ได้ทำการก่อสร้างอาคารในที่ดินโจทก์โฉนดที่ 2565, 2567 เต็มตามเขตโฉนด ไม่เว้นทางเดินกว้าง 1.50 เมตรซึ่งตกเป็นภารจำยอมสำหรับที่ดินจำเลยโฉนดที่ 2562 และ 2564 เป็นการเปิดทางเดินภารจำยอม ขอให้ใช้ค่าเสียหายและเปิดทางภารจำยอมตามคดีแพ่งดำที่ 1533/2512 ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่งโจทก์ก็ฟ้องเป็นคดีนี้ และจำเลยได้ให้การต่อสู้คดีกับได้ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดฐานละเมิด ทำนองเดียวกับที่กล่าวอ้างในฟ้องคดีแพ่งดำที่ 1533/2512 เพียงแต่ให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเพิ่มเติมอีกบางประการคือค่าหน้าดินและค่าเช่าตึกเท่านั้น
ในปัญหาที่ว่า คำฟ้องแย้งของจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ได้กระทำละเมิดนั้น เป็นการกระทำอย่างเดียวกัน ทำในคราวเดียวกันแม้จะได้ความต่อมาว่า โจทก์ได้ทำการก่อสร้างตึกทับทางภารจำยอมจนเสร็จบริบูรณ์ ก็เป็นการกระทำที่สืบเนื่องติดต่อกันมากับการกระทำละเมิดเดิม มิได้กระทำการอื่นใดอันถือได้ว่าเป็นการละเมิดใหม่ต่อจำเลย และความเสียหายที่จำเลยอ้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ในคำฟ้องแย้ง ก็ได้ความชัดจากคำฟ้องแย้งนั้นเองว่าเมื่อโจทก์เริ่มกระทำละเมิดต่อจำเลยนั้น จำเลยก็ได้รับความเสียหายแล้ว เป็นการสมควรที่จำเลยจะได้เรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีเดิมได้ การที่จำเลยนำคำฟ้องที่อ้างว่าโจทก์ละเมิดต่อจำเลยเรื่องเดียวกับคดีเดิมมาฟ้องแย้งเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากโจทก์อีกเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งดำที่ 1533/2512 ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลแพ่ง ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง (1)
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นว่า ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์