คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1036/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้จำต้องคืนที่ดินให้เจ้าของไปโดยสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะลูกหนี้ได้ที่ดินมาโดยการไปแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดินนั้น หาใช่เป็นกรณีที่ลูกหนี้ให้โดยเสน่หาไม่ เจ้าหนี้จะเพิกถอนการฉ้อฉลโดยอ้างว่าเพียงแต่ลูกหนี้รู้ถึงการเสียเปรียบฝ่ายเดียวก็พอแล้วเท่านั้นไม่ได้

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไปแจ้งเท็จต่อหอทะเบียนที่ดินขอรับมรดกนาพิพาทในนามจำเลยที่ 1 ทั้งหมด แล้วนำมาจำนองนายประยงค์และทำสัญญาแบ่งขายให้โจทก์ 60 ไร่ ได้รับเงินหมดแล้ว ต่อมาผิดนัดโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้โอนที่ดินรายนี้ ความจริงนาพิพาทเป็นของ ด.ช.สนั่น 64 ไร่เศษ ของ ด.ช.ไพรัชบุตรจำเลยที่ 1, 50 ไร่ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้จัดการมรดกผู้ปกครอง และผู้แทนโดยชอบธรรมของ ด.ช.สนั่น จึงฟ้องจำเลย ขอให้ทำลายนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 รับมรดกรายนี้ และหาว่าแจ้งความเท็จเป็นคดีอาญาในที่สุดจำเลยที่ 1 ยอมถอนชื่อออกจากโฉนด ให้กลับมาสู่ฐานะเดิมคดีอาญาก็ย่อมเลิกกันไป ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งขายตามสัญญา และได้มีการอายัติที่นารายนี้ไว้ด้วย ต่อมาศาลชั้นต้นได้สั่งให้ถอนการอายัติของโจทก์โดยเห็นว่า โจทก์เพิ่งได้สิทธิตามคำพิพากษา ภายหลังคำพิพากษาท้ายยอมในคดีที่ จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 สู้สิทธิของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ พร้อมทั้งคำพิพากษาและคำบังคับในคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นเสีย โดยอ้างว่าจำเลยสมคบกันฉ้อฉลโจทก์

ศาลชั้นต้นตัดสินให้โจทก์ชนะคดี

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกาอ้างมาตรา 237 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237ที่โจทก์อ้างมาเพื่อให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 รู้ถึงการเสียเปรียบฝ่ายเดียวก็พอแล้วนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ทำให้โดยเสน่หา แต่คดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จำต้องคืนให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพราะตนได้มาโดยการไปแจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานหอทะเบียนที่ดินหาใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ให้โดยเสน่หาไม่ กฎหมายบทนี้จึงไม่มีประโยชน์แก่โจทก์

จึงต้องพิพากษายืน

Share