คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1670/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เอกสารคำมั่นสัญญาระหว่างเจ้าหนี้กับจำเลย ลงวันที่ 7ธันวาคม 2496 มีข้อความสำคัญว่า. จำเลยมอบฉันทะให้เจ้าหนี้รับเงินค่ารับเหมาส่งหินจากกรมทางหลวงแผ่นดิน495,980 บาท. และเพื่อเป็นการตอบแทน. เจ้าหนี้จึงจ่ายเงินให้จำเลย 450,000บาท. เมื่อพิจารณาเอกสารนี้รวมกับหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งคดีดำที่ 875/2506ระหว่างบริษัทสหธนกิจ โจทก์. บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำเลยซึ่งมีข้อความว่า’ข้อ 2 จำเลยยอมให้เอาหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามข้อ 1 ไปหักกับดอกเบี้ยรายต้นเงิน 336,000 บาท ที่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี. ซึ่งยังค้างอยู่ถึงวันนี้…..’ตามคำขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 4 รายพิพาทมีความว่า ‘4.หนี้เงินกู้เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2496 ต้นเงินเดิม450,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีลูกหนี้ผ่อนต้นมาคงค้างต้น 336,000 บาท’ แสดงว่าหนี้ราย 336,000 บาทคือหนี้ราย 450,000 บาทแต่เดิมนั่นเอง. เมื่อพิจารณาเอกสารคำมั่นสัญญาและสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบกันแล้ว.เห็นได้ชัดว่าจำเลยกู้เงินจำนวนดังกล่าวจากเจ้าหนี้.เอกสารทั้งสองฉบับนี้รวมกันจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ. ดังนั้น. การที่เจ้าหนี้นำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นหนี้เงินกู้. จึงหาใช่นำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่.

ย่อยาว

บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ตามคำพิพากษาและเงินกู้ 2,085,158 บาท 36 สตางค์ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระรวม 3 ราย เป็นเงิน 1,668,604.43 บาท ส่วนที่เกินมาให้ยกศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นด้วย บริษัทสหธนกิจไทยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้รายการอันดับ 4เป็นจำนวน 357,264.66 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดผู้ล้มละลาย ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเอกสารคำมั่นสัญญาระหว่างบริษัทสหธนกิจไทยจำกัด เจ้าหนี้ กับบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย ลงวันที่ 7ธันวาคม 2496 มีข้อความสำคัญว่า บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลยมอบฉันทะให้บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ รับเงินค่ารับเหมาส่งหินจากกรมทางหลวงแผ่นดินจำนวน 495,980 บาท และเพื่อเป็นการตอบแทนบริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ จึงจ่ายเงินให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย 450,000 บาท เอกสารนี้เมื่อพิจารณารวมกับหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความของศาลแพ่งคดีดำที่ 875/2506ระหว่าง บริษัทสหธนกิจไทย จำกัด โจทก์ บริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดจำเลย ลงวันที่ 5 เมษายน 2506 ซึ่งมีข้อความว่า “ข้อ 2. จำเลยยอมให้เอาหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ตามข้อ 1. ไปหักกับดอกเบี้ยรายต้นเงิน 336,000 บาท ที่โจทก์ยังไม่ได้ฟ้อง อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งยังค้างอยู่ถึงวันนี้……” ตามคำขอรับชำระหนี้รายการอันดับ 4 รายพิพาท “4. หนี้เงินกู้เมื่อ 7 ธันวาคม 2496ต้นเงินเดิม 450,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ลูกหนี้ผ่อนต้นมาคงค้างต้น 336,000 บาท” แสดงว่า หนี้ราย 336,000 บาทคือหนี้ราย 450,000 บาทแต่เดิมนั้นเอง เมื่อพิจารณาเอกสารคำมั่นสัญญาและสัญญาประนีประนอมยอมความประกอบกันแล้ว เห็นได้ชัดว่าบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด จำเลย กู้เงินจำนวนดังกล่าวจากบริษัทสหธนกิจไทย จำกัด เจ้าหนี้ เอกสารทั้งสองฉบับนี้ร่วมกันจึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญดังนั้นการที่เจ้าหนี้นำพยานบุคคลมาสืบว่าเป็นหนี้เงินกู้ จึงหาใช่นำสืบแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ พิพากษายืน.

Share