คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1668/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในอุทธรณ์ของผู้ร้อง เจ้าพนักงานศาลได้ประทับตรามีข้อความว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งในวันนี้ได้ ผู้ยื่นจะมารับทราบคำสั่งศาลภายใน 7 วันนับแต่วันยื่น และทุกๆ 7 วัน หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยมีลายมือชื่อทนายผู้ร้องลงชื่อรับทราบ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องมาติดตามดูคำสั่งศาลและมารับทราบคำสั่งศาลเอง หากไม่มาให้ถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้วตามตราประทับข้อความดังกล่าวหาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลที่จะต้องแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบแต่อย่างใดไม่
แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องโดยยกคำร้องของผู้ร้องก็ตาม แต่คำร้องของผู้ร้องดังกล่าวที่ยื่นเข้ามากระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี หาใช่เป็นเรื่องระหว่างผู้ร้องกับศาลเท่านั้นไม่ เมื่อผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วย มาตรา 246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารเลขที่ 150 ถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเดือนละ 3,000 บาท แก่โจทก์นับแต่วันที่ 8 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายสิ่งของออกไปจากอาคารของโจทก์
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2545 ผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ตามคำร้องและคำขอบังคับท้ายคำร้องมิใช่เป็นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องกล่าวหาว่า โจทก์ดำเนินการบังคับคดีในทางโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องและทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ซึ่งผู้ร้องต้องทำเป็นคำฟ้องมิใช่ทำเป็นคำร้องฉบับนี้ ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ จึงรวบรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า เจ้าพนักงานศาลไม่แจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบ เป็นการไม่ชอบ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบไปด้วยในตัว ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น เห็นว่า ในอุทธรณ์ของผู้ร้อง เจ้าพนักงานศาลได้ประทับตราซึ่งมีข้อความว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งในวันนี้ได้ ผู้ยื่นจะมารับทราบคำสั่งศาลภายใน 7 วันนับแต่วันยื่น และทุกๆ 7 วัน หากไม่มา ให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยมีลายมือชื่อทนายผู้ร้องลงชื่อรับทราบ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องมาติดตามดูคำสั่งศาลและมารับทราบคำสั่งศาลเอง หากไม่มาให้ถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลแล้วตามตราประทับข้อความดังกล่าว หาใช่เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานศาลที่จะต้องแจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบแต่อย่างใดไม่ การที่เจ้าพนักงานศาลไม่แจ้งคำสั่งศาลให้ผู้ร้องทราบและคำสั่งศาลอุทธรณ์ที่สั่งต่อมาว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์ จึงไม่ใช่การพิจารณาที่ผิดระเบียบตามที่ผู้ร้องฎีกา และที่ผู้ร้องฎีกาว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ร้องไม่จำต้องส่งสำเนาให้โจทก์ จะนำบทบัญญัติเรื่องทิ้งฟ้องมาใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ร้องจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องโดยยกคำร้องของผู้ร้องก็ตาม แต่คำร้องของผู้ร้องดังกล่าวที่ยื่นเข้ามากระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี หาใช่เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ร้องแต่อย่างใดไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์ภายใน 7 วันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง ผู้ร้องก็ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งผู้ร้องอุทธรณ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 และจะมารับทราบคำสั่งศาลทุก 7 วัน หากไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่ง จึงถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 ดังนั้น เมื่อผู้ร้องไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามรายงานเจ้าหน้าที่ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2545 จึงเป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share