คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1666/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงานสำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 150 คน และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานอย่างใกล้ชิดตลอดมาโดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานพากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายเพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน
มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงานที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำสั่งของจำเลยทั้งสองที่ 94/2550 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเหตุเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้ออกคำสั่งดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) สั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้น… (4) สั่งให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ที่มาของการออกคำสั่งข้างต้นของจำเลยทั้งสอง ปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า โจทก์ประกอบกิจการผลิตเครื่องประดับเพื่อส่งออก ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โจทก์มีลูกจ้างประมาณ 580 คน ในสถานประกอบการของโจทก์ลูกจ้างได้ก่อตั้งสหภาพแรงงานอัลมอนด์มีสมาชิกประมาณ 220 คน เดิมโจทก์และสหภาพแรงงาน มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 สหภาพแรงงานยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ วันเดียวกันโจทก์ก็ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อสหภาพแรงงาน ตัวแทนทั้งสองฝ่ายเจรจากันเอง 6 ครั้ง ไม่สามารถตกลงกันได้ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายแจ้งข้อพิพาทแรงงานต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ไม่สามารถตกลงกันได้ โจทก์มีหนังสือแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานใช้สิทธิปิดงานเฉพาะสมาชิกสหภาพแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2550 หลังจากโจทก์ปิดงานแล้ว พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานยังนัดไกล่เกลี่ยอีก ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ ลูกจ้างที่ถูกปิดงานประมาณ 150 คน ไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลขอให้นายกรัฐมนตรีช่วยเหลือ หลังจากนั้นพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานนัดไกล่เกลี่ยอีก 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ สมาชิกสหภาพแรงงานที่ถูกปิดงานประมาณ 150 คน รวมตัวกันไปยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือที่สถานทูตสหรัฐอเมริกา พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานทำการไกล่เกลี่ยอีก 2 ครั้ง ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ สมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 80 คน ชุมนุมกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและเดินทางไปยื่นหนังสือที่กองบัญชาการทหารบก เพื่อขอความช่วยเหลือต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ จำเลยที่ 2 นัดเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งสุดท้าย ฝ่ายโจทก์ไม่มาตามนัด จำเลยที่ 2 จึงใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ออกคำสั่งให้โจทก์ยุติการปิดงาน โดยรับลูกจ้างที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างในอัตราที่เคยจ่ายและให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ดำเนินการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานโดยเร็วตามคำสั่งที่ 94/2550 หลังจากจำเลยที่ 2 ออกคำสั่งแล้ว โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 แต่ไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว จึงได้ใช้สิทธิฟ้องร้องคดีนี้ก่อนคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับสหภาพแรงงาน ตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 1/2550 จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างในส่วนที่โจทก์ปิดงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้ตามอัตราที่เคยจ่าย จำเลยทั้งสองให้โอกาสโจทก์และสหภาพแรงงานอัลมอนด์ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาโดยตลอดจนถึงขั้นตอนที่โจทก์ใช้สิทธิปิดงาน สำหรับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงงานประมาณ 150 คน และหลังจากนั้นจำเลยทั้งสองยังคงควบคุมดูแลข้อพิพาทแรงงานรายนี้อย่างใกล้ชิดตลอดมา โดยให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานเข้าไกล่เกลี่ยอีกหลายครั้ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามหลักการให้เกิดแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโจทก์กับลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอย่างเต็มที่แล้ว แต่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ และมีทีท่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ฝ่ายลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการปิดงานของโจทก์พากันไปชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล สถานทูตสหรัฐอเมริกา และไปพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติที่กองทัพบก ปรากฏว่าแต่ละหน่วยงานไม่สามารถแก้ปัญหาข้อพิพาทแรงงานนี้ได้ ทั้งพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไปอีกเหตุการณ์อันเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานอาจเกิดเหตุร้ายแรงขึ้นได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้กิจการของโจทก์เป็นการผลิตและส่งออกสินค้าประเภทเครื่องประดับ และโจทก์ปิดงานโดยถูกขั้นตอนตามกฎหมายก็ตาม ก็ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้นายจ้างซึ่งปิดงานรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานตามเดิมโดยจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่าย เพื่อรอการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ คำสั่งที่ 94/2550 ของจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุเพิกถอน ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งดังกล่าวโดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 35 เป็นการข้ามขั้นตอน เพราะที่ถูกต้องใช้อำนาจตามมาตรา 24 ก่อนนั้น เห็นว่า มาตรา 24 เป็นบทบัญญัติให้นำมาใช้แก่ข้อพิพาทแรงงาน ที่อยู่ในขั้นตอนที่เป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่ขณะที่จำเลยทั้งสองออกคำสั่งที่ 94/2550 ข้อพิพาทแรงงานรายนี้ได้ล่วงเลยขั้นตอนข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จนถึงขั้นตอนการปิดงานแล้ว จึงนำมาตรา 24 มาใช้บังคับไม่ได้ อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะแสดงว่าโจทก์ปิดงานถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยไม่ได้นำเรื่องที่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ก่อความวุ่นวาย ขัดขวางการดำเนินกิจการของโจทก์ ก่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายมาพิจารณาประกอบ แต่กลับรับฟังพยานหลักฐานของลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และพนักงานประนอมข้อพิพาทนำเสนอเพียงฝ่ายเดียวว่า การปิดงานของโจทก์ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง แต่เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share