คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับการทำงานเอกสาร ล.1 จัดทำเป็นภาษาอังกฤษ จำเลยเป็นผู้ส่งต่อศาล หากไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยทำคำแปลได้ แต่เมื่อจำเลยได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วต้องถือว่าถูกต้องตามเอกสารนั้นซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยไปตามนั้น จำเลยจะโต้แย้งภายหลังว่าคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่ได้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14 นั้น เป็นที่ชัดแจ้งว่าต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งได้ทำขึ้นเป็นสองภาษา จึงจะใช้ความในมาตรานี้บังคับได้ ข้อบังคับการทำงานของจำเลยได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียวส่วนภาคภาษาไทยเป็นเพียงคำแปลเท่านั้น เมื่อจำเลยทำคำแปลภาษาไทยมาแล้วศาลก็ย่อมวินิจฉัยภาษาไทยที่จำเลยแปลมานั้น
เมื่อจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ โจทก์ได้ทำเอกสารให้แก่จำเลยมีข้อความในวรรคแรกว่า ‘โดยความสิ้นสุดแห่งการรับจ้างทำงานให้กับบริษัท ฯ ข้าพเจ้าได้รับเงินจำนวน…..จากบริษัท ฯ ตามข้อบังคับแผนการเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุ……เป็นการชำระโดยเต็มและถึงที่สุดในเงินค่าจ้างเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุและเงินจำนวนอื่นซึ่งข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับ’ข้อความดังกล่าวระบุประเภทของเงินค่าจ้างและเงินบำเหน็จเท่านั้น ส่วนคำว่าเงินจำนวนอื่นนั้นจะให้หมายความรวมถึงค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ด้วยนั้นหาได้ไม่ ส่วนความในวรรคสองมีว่า ‘และโดยที่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอรับรองว่า ข้าพเจ้า ทายาท ฯลฯ ขอสละสิทธิและปลดปล่อยโดยตลอดไปให้บริษัท ฯ ผู้สืบสิทธิและผู้ที่ได้รับมอบหมาย ปลอดจากสิทธิเรียกร้องใด ๆ ของข้าพเจ้าอันเกี่ยวกับการรับจ้างทำงานให้บริษัท’ ข้อความดังกล่าวหาได้มีการระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ค่าชดเชยไม่ ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องในค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมกับเงินบำเหน็จเกษียณอายุแล้ว จำเลยไม่เคยผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษา ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.๑ นี้จำเลยเป็นผู้ส่งต่อศาล หากไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทยศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยทำคำแปลได้ แต่เมื่อจำเลยได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วต้องถือว่าถูกต้องตามเอกสารนั้น ซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยไปตามนั้น จำเลยจะโต้แย้งภายหลังว่าคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้นไม่อาจรับฟังได้
มาตรา ๑๔ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่าถ้าเอกสารทำขึ้นเป็นสองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่ง ภาษาอื่นภาษาหนึ่ง แต่ข้อความในสองภาษานั้นแตกต่างกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับ ให้ถือเอาภาษาไทยบังคับ ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งว่าต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งได้ทำขึ้นเป็นสองภาษาจึงจะใช้ความในมาตรานี้บังคับได้ แต่ความจริงข้อบังคับการทำงานของจำเลยได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว ส่วนภาคภาษาไทยเป็นเพียงคำแปลเท่านั้น เมื่อจำเลยทำคำแปลภาษาไทยมาแล้ว ศาลก็ย่อมวินิจฉัยตามภาษาไทยที่จำเลยแปลมานั้น
เมื่อจำเลยจ่ายเงินจำนวน ๓๓๐,๗๕๐ บาท และ ๔๑๐,๖๒๕ บาท ให้แก่โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ แล้ว โจทก์ทั้งสองได้ทำเอกสารหมาย ๑ ท้ายคำให้การทั้งสองคดีให้แก่จำเลยโดยมีข้อความเช่นเดียวกัน ในวรรคแรกว่า โดยความสิ้นสุดแห่งการรับจ้างทำงานให้กับบริษัท เค.แอล.เอ็ม.รอยัลดัทช์แอร์ไลน์ จำกัด ข้าพเจ้าได้รับเงินจำนวน …….จากบริษัทฯ ตามข้อบังคับแผนการเงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุดังปรากฏในภาคผนวก ๓ แห่งข้อบังคับการทำงานของพนักงานภาคพื้นดิน สายการบิน เค.แอล.เอ็ม.ในประเทศไทย เป็นการชำระโดยเต็มและถึงที่สุดในเงินค่าจ้าง เงินบำเหน็จเมื่อเกษียณอายุและเงินจำนวนอื่นซึ่งข้าพเจ้ามีสิทธิได้รับ ซึ่งข้อความดังกล่าวนี้ได้ระบุประเภทของเงินค่าจ้างและเงินบำเหน็จเท่านั้น ส่วนคำว่าเงินจำนวนอื่นนั้นจะให้หมายความรวมถึงค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสองด้วยนั้นหาได้ไม่ ส่วนความในวรรคสองมีว่า และโดยที่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงขอรับรองว่า ข้าพเจ้า ทายาทผู้จัดการทรัพย์สิน ผู้จัดการมรดกและตัวแทนตามกฎหมายของข้าพเจ้า ขอสละสิทธิและปลดปล่อยโดยตลอดไปให้บริษัท เค.แอล.เอ็ม.รอยัลดัทช์แอร์ไลน์ จำกัด ผู้สืบสิทธิและผู้ที่ได้รับมอบหมายปลอดจากสิทธิเรียกร้องใด ๆ ของข้าพเจ้า อันเกี่ยวกับการรับจ้างทำงานให้บริษัท ฯ ซึ่งจำเลยถือว่าเป็นการปลดหนี้ให้จำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๔๐ ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวหาได้มีการระบุไว้โดยแจ้งชัดว่า โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาปลดหนี้ค่าชดเชยไม่ ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองสละสิทธิเรียกร้องในค่าชดเชยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายดังกล่าวด้วยไม่
พิพากษายืน.

Share