แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำผิดและเคยต้องโทษ ก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2530 และพ้นโทษไปก่อนแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าวจึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80,92 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ให้การเพิ่มเติมรับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษจริงตามฟ้อง
ระหว่างพิจารณาผู้เสียหายได้ร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต ต่อมาโจทก์ร่วมถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาท ผู้มีสิทธิเข้ามาดำเนินคดีแทนที่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา288,80 จำคุก 12 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและพาติดตัวไปในเมืองโดยไม่รับอนุญาตในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 164/2528 และมากระทำผิดในคดีนี้ภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษอีก จึงให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามมาตรา 92 เป็นจำคุก16 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยขน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษสมควรลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามมาตรา 78 คงจำคุกไว้ 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยได้ใช้อาวุธปืนสั้นยิงโจทก์ร่วม 1 นัดกระสุนปืนถูกที่ลิ้นปี่ เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับอัตรายสาหัสปรากฏบาดแผลตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องและต่อมาหลังจากฟ้องคดีนี้แล้วโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย ปัญหามีว่าจำเลยพยายามฆ่าโจทก์ร่วมเพราะบันดาลโทสะหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมเห็นจำเลยยิงปืน 2 นัด โจทก์ร่วมจึงเดินเข้าไปถามจำเลยว่าทำไมยิงปืน จำเลยตอบเป็นภาษาปักษ์ใต้ซึ่งโจทก์ร่วมฟังไม่รู้เรื่อง แล้วจำเลยยิงปืนใส่หน้าทอ้งโจทก์ร่วม 1 นัดโจทก์ร่วมล้มลงและหมดสติไป จำเลยนำสืบว่า จำเลยยิงโจทก์ร่วมเพราะบันดาลโทสะเนื่องจากโจทก์ร่วมมาด่าจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายต่าง ๆนา ๆ โดยหาว่าจำเลยแย่งลูกค้าของโจทก์ร่วมที่มาซื้อของที่ร้านของจำเลยแทนที่จะไปซื้อของที่ร้านของโจทก์ร่วม จำเลยขอร้องให้โจทก์ร่วมกลับไปบ้านโจทก์ร่วมไม่ยอมไปกลับท้าท้ายให้จำเลยออกไปพบและด่าทอจำเลยไม่ยอมหยุดทั้ง ๆ ที่จำเลยยิงปืนขู่ขึ้นฟ้า 1 นัด แล้ว จำเลยจึงยิงโจทก์ร่วมศาลฎีกาเห็นว่า แม้พยานจำเลยจะมีตัวจำเลยนายประสิทธิ์ พานิช และนางอำไพ บุษบง มาเบิกความใจความทำนองเดียวกับที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายแวยูโซะ แวคอเลาะพยานจำเลยอีกปรากหนึ่งว่า ก่อนเกิดเหตุนายแวยูโซ๊ะเห็นจำเลยกับโจทก์ร่วมยืนด่าทะเลาะกันที่หน้าร้านจำเลยทั้งในชั้นสอบสวนนายประสิทธิ์และนายแวยูโซ๊ะยังให้การว่าก่อนเกิดเหตุได้ยินเสียงและเห็นจำเลยกับโจทก์ร่วมโต้เถียงกัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล.2 นายประสิทธิ์และนายแวยูโซ๊ะไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใดจึงเชื่อว่านายประสิทธิ์กับนายแวยูโซ๊ะให้การในชั้นสอบสวน และนายแวยูโซ๊ะเบิกความในชั้นพิจารณาไปตามความจริงโดยมิได้เข้าข้างฝ่ายใด รูปคดีฟังได้ว่าจำเลยและโจทก์ร่วมสมัครใจด่าทอซึ่งกันและกันก่อนเกิดเหตุแล้วจำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่ากระทำไปเพราะบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยฎีกาขึ้นมา ฎีกาของจำเลบฟังไม่ขึ้น แต่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยหนักเกินไปเนื่องจากโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อน จึงเห็นสมควรแก้ไข และที่พิพากษาให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา92 เนื่องจากจำเลยเคยต้องโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรจำคุก 9จำคุก 9 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 164/2528 ของศาลชั้นต้นมาก่อนนั้น ปรากฏว่า จำเลยกระทำผิดในคดีดังกล่าวก่อนวันที่ 5ธันวาคม 2530 และพ้นโทษไปก่อนแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระชนมพรรษา 60 พรรษา พ.ศ. 2530 มาตรา 4 ถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 6 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.