คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ได้รวมไว้แล้วซึ่งค่าชดเชยเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนดนั้นต้องถือว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวไม่มีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วย เอกสารภาษาต่างประเทศเมื่อจำเลยทำคำแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วถือว่าถูกต้องตามเอกสารนั้นจำเลยจะโต้แย้งภายหลังว่าคำแปลไม่ถูกต้องหาได้ไม่ ป.พ.พ.มาตรา14จะใช้บังคับในกรณีมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งทำขึ้นเป็นสองภาษาแต่ข้อบังคับการทำงานของจำเลยทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษส่วนภาคภาษาไทยเป็นคำแปลเท่านั้นศาลจึงย่อมวินิจฉัยตามภาษาไทยที่แปลมานั้น.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาพิพากษาโดยเรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 และโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 ตามลำดับโจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าอาหาร ค่ารถ และค่าซักรีดซึ่งจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองตามข้อบังคับในภาคผนวก 3 เป็นเงินบำเหน็จ มิใช่ค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 73,500 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 81,540 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองจำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นเงินเดือนละ 12,250 บาท และ 13,590 บาท และจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะเหตุเกษียณอายุเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2524 และวันที่1 มกราคม 2527 ตามลำดับ และจำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. 1 ให้แก่โจทก์ที่ 1เป็นเงิน 330,750 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 410,625 บาทปัญหามีว่าเงินตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองต่างได้รับไปจากจำเลยดังกล่าวนั้นได้รวมถึงค่าชดเชยที่จำเลยพึงต้องจ่ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ด้วยหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำนวนเงินบำเหน็จที่โจทก์ทั้งสองได้รับจากจำเลยดังกล่าวนั้นได้คำนวณตามอัตราที่ได้กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล. 1 ภาคผนวก 3 ข้อ 3 ก. และในข้อ 4 ก. มีข้อกำหนดต่อไปว่า “เงินบำเหน็จที่กล่าวในข้อ 3จะถือว่าได้รวมไว้แล้วซึ่งเงินค่าชดเชยที่บริษัทพึงจ่ายตามภาคผนวก5 ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนด” และในภาคผนวก 5ได้กำหนดว่า “ค่าชดเชย (1) ลูกจ้างซึ่งให้ออกจากงานเพราะมีลูกจ้างเกินอัตรา หรือลูกจ้างซึ่งถูกให้ออกจากงานโดยไม่มีความผิดมีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน (2) กรณีลูกจ้างถูกให้ออกจากงาน ถ้าเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานมาเกินกว่า 6 ปีแล้ว ให้ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในอัตราเท่ากับเงินเดือนของแต่ละปีแล้ว ให้ลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเพิ่มขึ้นอีกในอัตราเท่ากับเงินเดือนของแต่ละปีเป็นจำนวน 1 เดือนต่อปี สำหรับจำนวนเวลาแห่งการทำงานซึ่งเกินกว่า 6 ปีนั้น แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 12 เดือน” จึงเห็นได้ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย ภาคผนวก 3 ข้อ 4 ก. ได้ระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่าเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสองนั้นได้รวมไว้แล้วซึ่งค่าชดเชยเฉพาะในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายแรงงานกำหนดคือตามภาคผนวก 5 (2) เท่านั้น หาได้รวมถึงค่าชดเชยที่โจทก์ทั้งสองพึงมีสิทธิได้รับตามกฎหมายแรงงานตามที่กำหนดไว้ในภาคผนวก 5 (1)ด้วยไม่ กรณีจึงต้องถือว่าเงินที่โจทก์ทั้งสองได้รับไปแล้วนั้นไม่มีค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานรวมอยู่ด้วย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 นี้เดิมได้จัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษแล้วจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย แต่ปัจจุบันนี้จำเลยตรวจพบว่าคำแปลภาษาไทยในข้อบังคับนี้ได้มีการแปลกตกหล่นและคลาดเคลื่อน หากมีการแปลถูกต้องแล้วการตีความจะต้องเป็นไปตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยอีก เห็นว่า ข้อบังคับการทำงานของจำเลยตามเอกสาร ล.1 นี้จำเลยเป็นผู้ส่งต่อศาล หากไม่มีคำแปลเป็นภาษาไทย ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยทำคำแปลได้ แต่เมื่อจำเลยได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทยมาแล้วต้องถือว่าถูกต้องตามเอกสารนั้นซึ่งศาลจำต้องวินิจฉัยไปตามนั้น จำเลยจะโต้แย้งภายหลังว่าคำแปลดังกล่าวไม่ถูกต้องนั้นไม่อาจรับฟังได้และที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่าศาลพึงถือเอาข้อบังคับที่มีข้อความเป็นภาษาไทยใช้บังคับต่อเมื่อศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าให้ใช้ภาษาใดบังคับ เมื่อจำเลยเป็นบริษัทต่างด้าวจึงต้องใช้ข้อบังคับฉบับภาษาอังกฤษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 14 เห็นว่า ความในมาตรา 14แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า ถ้าเอกสารทำขึ้นเป็นสองภาษา เป็นภาษาไทยภาษาหนึ่ง ภาษาอื่นภาษาหนึ่ง แต่ข้อความในสองภาษานั้นแตกต่างกัน และศาลมิอาจหยั่งทราบเจตนาของคู่กรณีได้ว่าจะให้ใช้ภาษาใดบังคับ ให้ถือเอาภาษาไทยบังคับ ซึ่งเป็นที่ชัดแจ้งว่าต้องมีเอกสารฉบับใดฉบับหนึ่งได้ทำขึ้นเป็นสองภาษาจึงจะใช้ความในมาตรานี้บังคับได้ แต่ความจริงข้อบังคับการทำงานของจำเลยได้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษเพียงภาษาเดียว ส่วนภาคภาษาไทยเป็นเพียงคำแปลเท่านั้น เมื่อจำเลยทำคำแปลภาษาไทยมาแล้ว ศาลก็ย่อมวินิจฉัยตามภาษาไทยที่จำเลยแปลมานั้น”
พิพากษายืน.

Share