คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี ฯลฯ (7)ลายมือชื่อโจทก์ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” คำว่า”โจทก์”มีบทวิเคราะห์ศัพท์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14)ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน เมื่อโจทก์มิได้ลงชื่อในฟ้อง มีแต่ทนายความของโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในฐานะโจทก์ คำฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องที่ศาลจะพึงรับไว้พิจารณา(อ้างฎีกาที่ 618/2490)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิจารณาพิพากษารวมกัน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยขับรถด้วยความประมาทขาดความระมัดระวังชนโจทก์ที่ 1 บาดเจ็บสาหัส และชนบุตรโจทก์ที่ 2 ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลรับประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยเป็นคนขับรถยนต์คันเกิดเหตุพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ทั้งสองสำนวนมิได้ลงชื่อในฟ้อง มีแต่ทนายโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในฐานะโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่เป็นฟ้องที่ควรรับพิจารณา พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่า คำฟ้องคดีอาญานั้นประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี ฯลฯ(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียงผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” คำว่า “โจทก์” นี้มีบทวิเคราะห์ศัพท์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(14) ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน คดีนี้ นางปิ่นคำ จอมวงศ์ เป็นโจทก์สำนวนหนึ่ง นายอินทรีย์ช่วยแก้ไข เป็นโจทก์อีกสำนวนหนึ่งแต่บุคคลทั้งสองมิได้ลงชื่อในคำฟ้อง แต่นายจีระเดช ลิมปนานนท์ ทนายความของโจทก์เป็นผู้ลงชื่อในฐานะโจทก์ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องที่ศาลจะพึงรับไว้พิจารณาตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 618/2490

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share