คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343,86 ให้จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 341,86 จำคุก 1 ปี 4 เดือน แม้เป็นการแก้ไขมากแต่จำคุกไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 91พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 165,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343, 86 ให้จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน165,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,86 จำคุก 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 86 ให้จำคุก2 ปีศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า การหลอกลวงของจำเลยมิได้มีลักษณะเป็นการประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไป จำเลยเพียงแต่ชวนผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศเท่านั้น พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 86 จำคุก 1 ปี 4 เดือนแม้เป็นการแก้ไขมากแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 โจทก์ฎีกาว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ ก่อนที่จำเลยจะไปชักชวนผู้เสียหายทั้งสามนั้น จำเลยได้ไปพบกำนันตำบลกวนวันแล้วบอกว่าจำเลยจะรับคนไปทำงานที่ไต้หวัน ถ้าใครสนใจให้ไปติดต่อจำเลยด้วยตนเอง และจำเลยได้ไปชักชวนนายวิเชียร อิฐถารัตน์ผู้เสียหายคนหนึ่งว่าใครอยากไปทำงานที่ไต้หวันจำเลยสามารถช่วยได้และมีผู้ถูกหลอกไปทำงานจากจังหวัดอื่นรวม 50 คน แม้จำเลยไปติดต่อกับผู้เสียหายทั้งสามด้วยตนเองก็เป็นภายหลังจากจำเลยบอกแก่กำนันตำบลกวนวันและผู้เสียหายคนหนึ่งให้บอกต่อแก่บุคคลทั่ว ๆ ไปแล้วว่าจำเลยสามารถจัดหางานในต่างประเทศได้ซึ่งเป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปแล้วฎีกาของโจทก์เท่ากับโต้เถียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยมิได้ประกาศโฆษณาแก่บุคคลทั่วไปไม่ถูกต้อง จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share