แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแลกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 มาตรา 90/59 และมาตรา 90/69 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้วทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นผู้บริหารแผน ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ตามลำดับขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการร่วมกันทำให้บริษัทลูกหนี้เสียหายให้แก่บริษัทลูกหนี้โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตามมาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดตามมาตรา 151 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทธรรมนิติและทรูธ จำกัด จำเลยที่ 2 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัทไพร้ซ์ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด และจำเลยที่ 3 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ใช้ชื่อว่าบริษัทธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เป็นบริษัทซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการในการรับจ้างผลิตสินค้าจำพวกเบียร์ชนิดต่างๆ ตามแต่ว่าผู้ว่าจ้างจะจ้างให้ผลิต ซึ่งมีสูตรการผลิตแตกต่างกันไป เดิมทีมีสำนักงานและโรงงานตั้งอยู่ที่บางโพ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร และต่อมาในปี 2526 บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้มีการวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตตามการเจริญเติบโตของธุรกิจผลิตเบียร์ของบริษัทจึงได้สร้างโรงงานใหม่ขึ้นตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งในระหว่างนั้นบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ภายใต้การบริหารงานโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหารได้มีการขอวงเงินสินเชื่อจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 3 ประมาณ 1,000,000,000 บาท แต่ด้วยมูลเหตุจูงใจบางประการไม่ปรากฏชัด ซึ่งจำเลยที่ 3 ผู้ให้กู้ได้ให้เงินกู้เกินสินเชื่อที่กำหนดไว้เบื้องต้น โดยให้เงินกู้เกินกว่าวงเงินเบื้องต้นเป็นจำนวนถึง 3,000,000,000 บาท ซึ่งเกินกว่าความต้องการถึง 2 เท่าตัวทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีภาระการชำระคืนเงินกู้พร้อมด้วยดอกเบี้ยในปริมาณที่สูงมากตามจำนวนของต้นเงินกู้เป็นเหตุให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ไม่สามารถชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยภายในกำหนดเวลาตามสัญญากู้แก่จำเลยที่ 3 ได้จนในที่สุดเมื่อปี 2542 จำเลยที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ต่อศาลล้มละลายกลาง และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ว่าให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.5/2543 และจำเลยที่ 3 ในฐานะฝ่ายเจ้าหนี้เสียงข้างมากได้เสนอให้บริษัทไพร้ซ์ วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอร์ริ่ง จำกัด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผน และในเดือนตุลาคม 2543 จำเลยที่ 3 ได้เสนอให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2543 ตั้งจำเลยที่ 3 (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 1) เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการในระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2543 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2544 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้และเป็นผู้ควบคุมและกำกับการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้ร่วมกันกระทำละเมิด โดยร่วมกันจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทดังกล่าวคือ เมื่อระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2543 อันเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องกัน ในการดำเนินกิจการบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ของจำเลยที่ 1 ผู้บริหารแผน และจำเลยที่ 2 ผู้ทำแผน บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ว่าจ้างให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ผลิตเบียร์แบล็กไทยเกอร์ (Black Tiger) และเบียร์บรูแม็ก (Brew Max) หลังจากที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ได้ตกลงรับจ้างผลิตเบียร์ตามที่บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สั่งจ้างผลิตอย่างต่อเนื่องในชื่อเบียร์แบล็กไทเกอร์ (Black Tiger) และเบียร์บรูแม็ก (Brew Max) และบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ภายใต้การบริหารของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ลงมือทำการผลิตเบียร์อันเป็นสูตรเฉพาะของเบียร์แบล็กไทเกอร์ (Black Tiger) จำนวนประมาณ 1,500,000 บาท ลิตร และเบียร์บรูแม็ก (Brew Max) จำนวน 200,000 ลิตร เพื่อการบรรจุใส่ภาชนะตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนดต่อมาจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันวางแผน โดยจำเลยที่ 3 สั่งการให้จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาว่าจ้างการผลิตเบียร์จากบริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ดังกล่าวโดยความเห็นชอบของจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือลงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 บอกเลิกสัญญาจ้างไปยังบริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยไม่ได้เตรียมแผนการด้านการตลาดที่ดีไว้รองรับทั้งๆ ที่ได้มีการผลิตเบียร์เอาไว้แล้วเพียงแต่รอบรรจุขวดก่อนส่งมอบสินค้าโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งให้บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและเป็นผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหายโดยตรงด้วยเพื่อไม่ให้บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มีสินค้าเบียร์ขายในช่วงเทศบาลเบียร์ประจำปี 2543 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างเดือนธันวาคม 2543 ถึงเดือนมกราคม 2544 ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้รับความเสียหาย เพราะน้ำเบียร์บรูแม็ก (Brew Max) จำนวน 1,496 เฮกโตลิตร และเบียร์แบล็กไทเกอร์(Black Tiger) จำนวน 10,989 เฮกโตลิตร ที่ผลิตไว้แล้ว ต้องได้รับความเสียหายทั้งหมด กล่าวคือไม่ได้บรรจุขวดตามกำหนด (ระยะเวลาการหมักเบียร์ก่อนบรรจุขวดไม่เกิน 2 เดือน) ทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้รับความเสียหายเป็นมูลค่าของสินค้าเบียร์บรูแม็ก (Brew Max) เป็นจำนวนเงิน 8,916,210 บาท และเบียร์แบล็กไทเกอร์(Black Tiger) เป็นจำนวนเงิน 46,070,468.92 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 54,986,678.92 บาท (คิดคำนวณตามราคาหน้าโรงงาน) นอกจากนี้ยังมีเบียร์บรูแม็กและเบียร์แบล็กไทเกอร์ที่ได้บรรจุในภาชนะแล้วทั้งขวดใหญ่และขวดเล็กและบรรจุกระป๋องอีกจำนวนหนึ่ง แต่ไม่ยอมจำหน่ายให้แก่บริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ว่าจ้าง จึงทำให้เบียร์ทั้งสองชนิดดังกล่าวต้องได้รับความเสียหายเพราะไม่ได้จัดจำหน่ายไปภายในเวลาที่กำหนด (เบียร์บรรจุขวดแล้วเก็บไม่ได้เกิน 6 เดือน) ทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ขาดรายได้ที่พึงจะได้รับเงิน 54,986,678.92 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวไม่สามารถนำเงินรายได้ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้ และทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ที่พึงจะได้รับทั้งในปัจจุบันและในอนาคต นอกจากนี้จำเลยทั้งสามยังได้ร่วมกันทำละเมิดต่อบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และโจทก์อีก กล่าวคือ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 เป็นต้นมาภายหลังจากที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้บอกเลิกสิทธิการจัดจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์ (Kloster) ของบริษัทคลอสเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้วได้จัดตั้งบริษัทไทยอมฤต ดิสทริบิวเตอร์ จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายเบียร์คลอสเตอร์เสียเอง บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการทั้งปวงของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด มีจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ทำแผนและกำกับดูแลรับผิดชอบการบริหารจัดการของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวข้างต้น แล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำการเปลี่ยนแปลงสูตรหรือกรรมวิธีการผลิตเบียร์คลอสเตอร์ด้วยความรู้เห็นยินยอมของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 จนเป็นเหตุให้น้ำเบียร์ที่บรรจุขวดเป็นเบียร์คลอสเตอร์ (Kloster) แล้วเสียหายเกิดตะกอนขุ่นขึ้นมา ความเสียหายได้เกิดขึ้นจากการไม่ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อนภายใต้การบริหารจัดการของจำเลยที่ 1 และการควบคุมดูแลของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ้งต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยทั้งสองอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่จนกระทั่งสินค้าเบียร์คลอสเตอร์ (Kloster) ที่ผลิตออกมาในภายหลังซึ่งได้ขายให้แก่บรรดาตัวแทนขาย (ยี่ปั๊ว) ไปแล้วได้ถูกทยอยส่งกลับคืนโรงงานเป็นจำนวน 102,500 กล่อง ราคากล่องละ 450 บาท (1 กล่องบรรจุได้ 12 ขวด) คิดเป็นค่าเสียหาย 46,125,000 บาท ทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้รับความเสียหายในจำนวนเงินซึ่งควรจะเป็นรายได้ของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด เพื่อใช้ในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ที่จะพึงได้รับในปัจจุบันและในอนาคต การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าว ทำให้บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ซึ่งอยู่ภายใต้การจัดการตามแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยทั้งสาม ที่มีฐานะลำบากอยู่แล้วต้องได้รับความเสียหายมากขึ้นไปอีก ทั้งๆ ที่จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลผู้ประกอบอาชีพพิเศษ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการทำแผนและบริหารแผนทางธุรกิจการค้า การดำเนินงานจำต้องใช้วิจารณญาณที่สูงกว่าวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสามส่งผลกระทบถึงโจทก์และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ได้เช่นกัน ทำให้โอกาสที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ฟื้นฟูตัวยิ่งยากลำบากมากขึ้นไปอีก ความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด โดยตรงและกรรมการของบริษัทหรือผู้บริหารกิจการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ไม่จัดการฟ้องร้องตัวผู้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จึงขอใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องร้องต่อจำเลยทั้งสามเรียกให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ตามความเสียหายที่จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันก่อให้เกิดขึ้น รวมเป็นเงินจำนวน 101,111,673.92 บาท ซึ่งโจทก์ขอถือเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 บัญญัติให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิฟ้องเฉพาะกรรมการผู้ทำให้บริษัทเสียหายเท่านั้นหากบุคคลภายนอกก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทก็เป็นเรื่องของบริษัทจะฟ้องร้องบุคคลภายนอกเสียเอง โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นไม่อาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการแทนบริษัทได้ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลภายนอก มิใช่กรรมการของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด หากจำเลยทั้งสามร่วมกันทำละเมิดต่อบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด และทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย ก็เป็นเรื่องที่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด จะฟ้องร้องจำเลยทั้งสามเอง โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องแทนบริษัทอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ได้ แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ก็ตาม อำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง จึงมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามฟ้องฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด ลูกหนี้ เมื่อปี 2542 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้ และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2543 ให้ฟื้นฟูกิจการตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.5/2543 ของศาลล้มละลายกลางเป็นผลให้มีอำนาจหน้าที่ของกรรมการในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้สิ้นสุดลงตามมาตรา 90/20 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 และเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำแผนเล้วอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ตกอยู่แก่จำเลยที่ 2 ผู้ทำแผน และเมื่อในที่สุดที่ประชุมเจ้าหนี้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแผนแล้วเป็นผลให้อำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้บริหารแผนตั้งแต่ได้รับทราบคำสั่งศาลตามมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ในระหว่างดำเนินการฟื้นฟูกิจการโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า นอกจากอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้แล้วตามบทบัญญัติมาตรา 90/25 และมาตรา 90/59 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ยังได้บัญญัติให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ ยกเว้นเฉพาะสิทธิที่จะได้เงินปันผลตกแก่ผู้ทำแผน และในที่สุดตกแก่ผู้บริหารแผนคือจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตามลำดับด้วย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นที่จะขอตรวจดูเอกสารบันทึกรายงานการประชุม สิทธิที่จะได้รับสำเนางบดุลบัญชีของบริษัท สิทธิในการขอรับสำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น สิทธิในการเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207, 1197, 1140 และ 1176 เป็นสิทธิที่กฎหมายได้กำหนดไว้เป็นเรื่องเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับตัวของผู้ถือหุ้นคนนั้นๆ เท่านั้น เช่นเดียวกับสิทธิในการรับเงินปันผลตามมาตรา 1201 ซึ่งต่างกับสิทธิของผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติในมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ที่ให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจฟ้องกรรมการแทนบริษัทได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้มีบทบัญญัติระบุไว้เลยว่า สิทธิของผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีข้อจำกัดที่จะต้องเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องในส่วนของผู้ถือหุ้นแต่ละคนเท่านั้น จึงเป็นสิทธิที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะเข้าควบคุมกำกับดูแลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทได้ในลักษณะเดียวกับสิทธิที่จะฟ้องกรรมการตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ต่างกันแต่เพียงว่าสิทธิอื่นๆ ข้างต้นนั้นเป็นการดำเนินการกันอยู่ภายในบริษัท ส่วนสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้ถือหุ้นใช้สิทธิควบคุมดูแลโดยผ่านทางศาลได้ ดังนั้นจึงมิใช่สิทธิเป็นการเฉพาะส่วนของตัวและต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25 และ 90/59 เช่นเดียวกัน ส่วนที่โจทก์อ้างในฎีกาว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับผิดทางแพ่งในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/67 ได้บัญญัติกระบวนการควบคุมตรวจสอบการจัดกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ไว้แล้ว ซึ่งถ้าหากมีการจัดการไม่เป็นไปตามแผนหรือโดยสุจริต หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ก็มีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ คณะกรรมการเจ้าหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้ตรวจสอบ สามารถรายงานหรือมีคำขอโดยทำเป็นคำร้องโดยตรงขอให้ศาลที่กำกับการจัดการอยู่อีกชั้นหนึ่งมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ซึ่งเป็นการตรวจสอบควบคุมและกำกับดูแลที่กว้างขวาง รวดเร็ว และรัดกุมมากยิ่งกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติถึงสิทธิการตรวจสอบครอบงำการปฏิบัติงานของกรรมการบริษัทเสียอีก นอกจากนี้ผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนเข้ามาจัดกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยความยินยอมของที่ประชุมเจ้าหนี้และด้วยความเห็นชอบของศาล โดยให้ดำเนินการไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้อยู่ภายใต้การตรวจสอบของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้และผู้บริหารของลูกหนี้ภายใต้การกำกับดูแลของศาลตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/25, 90/59 และ 90/67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายพิเศษ แต่กรรมการบริษัทแต่งตั้งได้เฉพาะที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นและต้องจัดการกิจการและทรัพย์สินตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ภายใต้การครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 และมาตรา 1151 ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีที่มาและขอบข่ายของอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนจึงไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัท ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นเป็นผลให้ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการบริษัทลูกหนี้ โจทก์ผู้ถือหุ้นของบริษัทลูกหนี้ได้ถูกตัดสิทธิในการควบคุมกำกับดูแลการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้โดยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษแล้วและอีกทั้งผู้ทำแผนและผู้บริหารแผนไม่อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการของบริษัทลูกหนี้โดยเฉพาะจำเลยที่ 3 เป็นผู้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ และกรรมการเจ้าหนี้ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สิน และไม่ได้อยู่ในฐานะเช่นเดียวกับกรรมการบริษัทลูกหนี้ด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นบริษัทลูกหนี้ยกคดีขึ้นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่งได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาข้อต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองไม่คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นศาลชั้นต้นให้โจทก์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคำฟ้องของโจทก์ก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในเนื้อหาที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้องอันเป็นประเด็นแห่งคดีก่อนพิพากษายกฟ้องแล้ว จึงเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 131 (2) ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม มิใช่คำสั่งไม่รับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 ที่จะต้องคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง ไม่ ที่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.