คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1661/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยเสียสัญชาติไทยโดยการสมรสกับคนต่างด้าว ดังนี้ปัญหาที่ว่าจำเลยยังเป็นคนไทยหรือต่างด้าวนั้นต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติซึ่งใช้อยู่ขณะจำเลยทำการสมรส กล่าวคือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2456 มาตรา 4 เมื่อโจทก์ไม่ได้สืบตาม พระราชบัญญัตินี้ให้ปรากฏว่ากฎหมายแห่งสัญชาติสามีบัญญัติให้หญิงไทยถือเอาสัญชาติของสามีได้ ดังนี้ถือว่าจำเลยสละสัญชาติไทยแล้วไม่ได้
พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2479 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า “หญิงซึ่งมีสัญชาติไทย ถ้าต้องสละสัญชาติไทยเพราะสมรสกับคนต่างด้าวให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว”นั้นหาได้หมายความว่าหญิงไทยที่สมรสกับคนต่างด้าวและไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วถือว่าสละสัญชาติไทยไม่
เมื่อถือว่าจำเลยไม่ได้สละสัญชาติไทยคือยังเป็นคนไทยอยู่ก็ไม่จำต้องให้จำเลยร้องฟ้องขอให้ได้มาซึ่งสัญชาติหรือฟ้องร้องผู้โต้แย้งตนว่าไม่ใช่คนไทย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เคยได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วแต่เมื่อ 25 พฤษภาคม 2485 จำเลยขาดจากสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 จำเลยเป็นคนต่างด้าวมีใบสำคัญประจำตัวที่ใช้ไม่ได้มีอายุถึง 8 กรกฎาคม 2488 ซึ่งหมดอายุแล้ว จำเลยมิได้ต่อตลอดมาจนถึงบัดนี้ใบสำคัญต่างด้าวของจำเลยใช้ไม่ได้ตาม พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2479 ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติต่างด้าว พ.ศ. 2493 จำเลยมิได้จัดการอย่างไรตามกฎหมาย จำเลยจึงเป็นคนต่างด้าวไม่มีใบสำคัญประจำตัวตามพระราชบัญญัติต่างด้าว พ.ศ. 2493 จำเลยบังอาจไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนับแต่ พ.ศ. 2493 ถึง 2497 โดยมิได้รับยกเว้นตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติต่างด้าว พ.ศ. 2493 มาตรา 5, 20 พระราชบัญญัติต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2495 มาตรา 4

จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยเป็นคนไทยโดยกำเนิดไม่เคยโอนเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมาย เพราะที่ไปรับใบสำคัญต่างด้าวเพราะจำเลยมีสามีต่างด้าวการที่จำเลยรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามสามีไม่ทำให้จำเลยกลับกลายเป็นคนต่างด้าว หากจะฟังว่าการที่จำเลยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วคดีโจทก์ก็ขาดอายุความ

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาที่ว่าจำเลยเป็นคนสัญชาติไทยหรือว่าเป็นคนต่างด้าวจำต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2456 มาตรา 4 ซึ่งใช้อยู่ในขณะจำเลยสมรสดังที่ศาลชั้นต้นได้ยกขึ้นกล่าวมาเมื่อโจทก์ไม่ได้สืบให้ปรากฏว่า กฎหมายแห่งชาติสามีบัญญัติให้หญิงไทยถือเอาสัญชาติของสามีได้ จึงถือว่าจำเลยสละสัญชาติไทยไม่ได้และตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2495 มาตรา 13 นอกจากจะบัญญัติทำนองเดียวกันแล้ว ยังบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า “และหญิงนั้นได้แสดงเจตนาจำนงโดยชัดแจ้งสละสัญชาติไทยต่อนายทะเบียนสมรส” ด้วย ฉะนั้นการที่จำเลยไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยคนต่างด้าวนั้นหาทำให้จำเลยขาดจากสัญชาติไทยเพราะเป็นคนต่างด้าวไม่ ตามพระราชบัญญัติต่างด้าวที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้นหมายความแต่เพียงว่าหญิงไทยซึ่งถือต้องสละสัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติเพราะสมรสกับคนต่างด้าวให้ไปขอรับใบสำคัญประจำตัวฯ หาได้หมายความว่าหญิงไทยที่สมรสกับคนต่างด้าวและไปขอรับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวแล้วถือว่าสละสัญชาติไทยดังโจทก์ฎีกาไม่

เมื่อถือว่าจำเลยไม่ได้สละสัญชาติไทย จำเลยยังเป็นคนไทยอยู่ก็ไม่จำเป็นจะต้องให้จำเลยร้องฟ้องขอให้ได้มาซึ่งสัญชาติหรือฟ้องร้องผู้โต้แย้งตนว่าไม่ใช่คนไทยดังโจทก์ฎีกา และที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับข้อที่ว่ากรณีนี้จำเลยรับชั้นสอบสวนว่าบิดาจำเลยเป็นคนต่างด้าวนั้นก็เป็นเรื่องฟังข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องสืบแก้เอกสาร ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share