คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยแล้ว สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมระงับลง โจทก์จำเลยจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ดังนั้น โจทก์จึงหามีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าปรับตามสัญญาจากจำเลยอีกต่อไปไม่ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่เท่านั้น
จำเลยส่งมอบงานงวดที่ 9 ให้แก่โจทก์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาไป 97 วัน โจทก์จึงจ่ายเงินค่าจ้างงานงวดดังกล่าวให้จำเลยไม่เต็มโดยหักค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาวันละ 2,000 บาทออกโดยจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ ถือได้ว่าจำเลยได้ชำระค่าปรับในการส่งมอบงานงวดที่ 9 ล่าช้าให้แก่โจทก์ไปแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดค่าปรับก็เป็นอันขาดไปตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ศาลจะหยิบยกค่าปรับส่วนนี้มาวินิจฉัยลดให้จำเลยอีกย่อมเป็นการไม่ชอบ.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ตกลงว่า ถ้าจำเลยทำไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท จนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จ กับค่าเสียหายที่ต้องเสียไปเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้เป็นเงิน 397,500 บาทจำเลยที่ 1 ทำงานเสร็จเพียง 8 งวด งวดที่ 9 ได้ส่งงานล่าช้าไป97 วัน โจทก์หักค่าปรับไว้ 194,000 บาท ส่วนงานงวดที่ 10 จำเลยที่1 ได้ละทิ้งงาน โจทก์บอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2524 งานที่ค้างอยู่ โจทก์ได้จ้างบริษัทธรรมรัตน์ก่อสร้าง จำกัด เป็นเงิน4,600,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดโดยหักเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 10 ออก 1,200,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องรับผิดแก่โจทก์ 3,400,000 บาท กับค่าปรับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน2521 จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ก่อสร้างรายใหม่ทำงานเสร็จ รวม 1,412 วัน เป็นเงิน 2,824,000 บาท รวมเป็นเงิน6,224,000 บาท จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดจำนวน 397,500 บาทขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 6,224,000 บาทและจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดใช้เงิน 397,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์เรียกเบี้ยปรับเป็นเวลา 1,412 วันไม่ถูกต้อง โจทก์เสียหายไม่เกินวันละ 100 บาท และเรียกได้ถึงวันบอกเลิกสัญญาเท่านั้น งานงวดสุดท้ายใช้วัสดุและค่าแรงทั้งสิ้นไม่เกิน 1,000,000 บาท แต่ค่างานจำนวน 1,200,000 บาท เมื่อหักแล้วยังเหลือเงินถึง 200,000 บาทจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเลิกสัญญา จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงินร้อยละ 5 ของค่าจ้าง จำเลยที่ 1 ส่งงานแล้ว9 งวด งวดที่ 10 ซึ่งเป็นงวดสุดท้าย เป็นเงิน 1,200,000 บาท ภาระค้ำประกันของจำเลยที่ 3 ต้องลดลงตามส่วน จึงควรรับผิดไม่เกิน60,000 บาท โจทก์ประมูลขายทรัพย์สินและวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 ไปแล้วเป็นเงิน 60,000 บาทจึงไม่เสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน4,154,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดใช้เงิน 397,500 บาท แก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 397,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้ค่าปรับจากจำเลยจนถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2525 อันเป็นวันที่ผู้รับจ้างรายใหม่ทำงานเสร็จ ไม่ใช่ถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาคือวันที่ 23 มีนาคม 2524 ดังคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองนั้นโจทก์นำสืบว่าตามสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.12ข้อ 5 ได้ระบุเกี่ยวกับเงินค่าปรับในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเป็นใจความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระค่าปรับเป็นรายวันวันละ 2,000 บาท จนกว่างานก่อสร้างรายนี้จะแล้วเสร็จโดยการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง หรือการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ ปรากฏว่างานก่อสร้างรายนี้ได้แล้วเสร็จโดยการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2525 ส่วนจำเลยทั้งสามไม่สืบพยาน ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับลงแล้ว โจทก์ จำเลยที่ 1 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมแม้สัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.12 จะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระค่าปรับแก่โจทก์จนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จก็ตาม โจทก์ก็หามีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าปรับนั้นอีกต่อไปไม่เนื่องจากสัญญาดังกล่าวได้ระงับลงแล้ว โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ดังที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสี่ เท่านั้นที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าปรับจากจำเลยจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา คือวันที่ 23 มีนาคม 2524 จึงชอบแล้วฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองนำเอาเบี้ยปรับจำนวน194,000 บาท ซึ่งคำนวณจากวันที่ 18 สิงหาคม 2521 ถึงวันที่ 22พฤศจิกายน 2521 ที่โจทก์หักไว้มาวินิจฉัยอีกเป็นการคลาดเคลื่อนเพราะมีผลเท่ากับว่าศาลใช้ดุลพินิจลดค่าปรับในส่วนนี้เป็นเงิน97,000 บาทด้วยนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากพยานหลักฐานของโจทก์โดยจำเลยทั้งสามไม่สืบพยานว่า เมื่อมีการต่ออายุสัญญาออกไปถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2521 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้ส่งงานงวดที่ 9ให้แก่โจทก์ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2521 พ้นกำหนดเวลาตามสัญญาไป97 วัน โจทก์จึงจ่ายเงินค่าจ้างงานงวดที่ 9 ให้จำเลยที่ 1 ไม่เต็มโดยหักค่าปรับที่ส่งมอบงานล่าช้าตามสัญญาวันละ 2,000 บาท รวมเป็นเงิน 194,000 บาทไว้ เมื่อศาลล่างทั้งสองให้ลดเบี้ยปรับลงมาเหลือวันละ 1,000 บาท โดยให้นับย้อนไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1ผิดนัดส่งมอบงานงวดที่ 9 คือ วันที่ 18 สิงหาคม 2521 จนถึงวันบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 23 มีนาคม 2524 รวม 948 วัน เป็นเงิน948,000 บาท แล้วนำเงินค่าปรับที่โจทก์หักจากเงินค่าจ้างงวดที่ 9จำนวน 194,000 บาท มาหักออกจากเงินค่าปรับดังกล่าว จึงคงให้จำเลยรับผิดชำระค่าปรับต่อโจทก์เพียง 754,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดส่งมอบงานงวดที่ 9 ล่าช้าไป 97 วัน โจทก์ได้ใช้สิทธิตามสัญญาหักเงินค่าปรับวันละ 2,000 บาท เป็นเงิน194,000 บาทออกจากค่าจ้างงานงวดที่ 9 แล้วจ่ายเงินคงเหลือให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งไว้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าปรับในการส่งมอบงานงวดที่ 9ล่าช้าตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2521 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2521ให้แก่โจทก์จำนวน 194,000 บาทไปแล้ว สิทธิเรียกร้องที่ขอลดก็เป็นอันขาดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ที่ศาลล่างทั้งสองหยิบยกค่าปรับในส่วนนี้ขึ้นมาวินิจฉัยอีกจึงเป็นการไม่ชอบ จำเลยจึงต้องชำระค่าปรับให้แก่โจทก์วันละ 1,000 บาทนับตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2521 อันเป็นวันต่อจากวันที่โจทก์หักค่าปรับจากค่าจ้างงานงวดที่ 9 ของจำเลยที่ 1 ไว้แล้วไปจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา คือวันที่ 23 มีนาคม 2524 รวม 851วัน เป็นเงินค่าปรับ 851,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายอีก3,400,000 บาทแล้ว จึงเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสิ้น 4,241,000 บาท ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินจำนวน4,251,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share