แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
(1) การที่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2490 มาตรา 3 บัญญัติว่า ‘สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วย’ นั้น ก็เพราะมุ่งหมายให้ลงโทษปรับผู้กระทำผิดครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินสี่เท่าราคาของรวมทั้งค่าอากรด้วย โดยไม่ต้องให้คำนึงว่าจะมีผู้ร่วมกระทำผิดด้วยหลายคนหรือไม่
(2) โดยที่พระราชบัญญัติศุลกากรมีความมุ่งหมายดังกล่าวนี้เองจึงต้องถือว่าพระราชบัญญัติศุลกากรนี้ได้บัญญัติถึงวิธีการลงโทษปรับผู้กระทำผิดไว้เป็นอย่างอื่นตามความในมาตรา 17 ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว เพราะฉะนั้นจะนำเอามาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้แก่ผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรไม่ได้กล่าวคือ จะปรับเรียงตัวผู้กระทำผิดไม่ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 30/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องมีใจความว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2505 เวลากลางวันจำเลยร่วมกันนำโค 4 ตัว ราคา 2,000 บาท จากประเทศลาวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และโดยไม่ได้เสียภาษีศุลกากรและไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรให้ถูกต้อง ทั้งนี้โดยเจตนาฉ้อค่าภาษีศุลกากรหรือหลีกเลี่ยงข้อห้าม เหตุเกิดที่ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 มาตรา 31, 32, 47, 48 กฎกระทรวงเกษตร (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2499 ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 6, 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 มาตรา 3, 4, 5, 10 (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าว พ.ศ. 2503 ฯลฯ
จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อหา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษปรับจำเลยคนละสี่เท่าของราคาโครวมกับค่าอากรอีก 550 บาท จึงให้วางโทษปรับจำเลยคนละ 10,200 บาท จำเลยรับสารภาพ ลดให้กึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 5,100 บาท ฯลฯ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ที่แก้ไขเพิ่มเติมซึ่งบัญญัติให้ปรับสี่เท่าของราคาและอากรประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 ให้ปรับเรียงตามรายตัวบุคคลแต่ปรับรวมกันได้จำนวนสี่เท่าของราคาของและอากรเท่านั้น จำเลยจะกี่คนก็ตาม ในคดีนี้ ค่าของและอากรรวมกันเป็นเงิน 2,550 บาท สี่เท่าราคาของและอากรเป็นเงิน 10,200 บาท อันเป็นค่าปรับที่จำเลยต้องเสีย การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทุกคนชำระค่าปรับ (เรียงตัว) ซึ่งรวมเป็นค่าปรับถึง 30,600 บาท เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จึงเป็นการคลาดเคลื่อน ที่ถูกจำเลยทุกคนต้องเสียค่าปรับเพียง 10,200 บาท เท่านั้น พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยทุกคนเป็นเงิน 10,200 บาท แต่ให้ปรับเป็นรายตัวบุคคล เป็นค่าปรับจำเลยคนละ 3,400 บาท ลดกึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 1,700 บาท
โจทก์ฎีกา ขอให้พิพากษาปรับเรียงตามรายตัวบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31
ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าการลงโทษปรับผู้ที่ร่วมกันกระทำผิดพระราชบัญญัติศุลกากร ต้องปรับรวมกันหรือปรับเรียงตามรายตัวบุคคล
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 บัญญัติว่า “บทบัญญัติในภาค 1แห่งประมวลกฎหมายนี้ ให้ใช้กรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยเว้นแต่กฎหมายนั้น ๆ จะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” ในกรณีเรื่องนี้ศาลพิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้ง 3 ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ซึ่งบัญญัติว่า “สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ฯลฯ” ดังนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากรมีความมุ่งหมายให้ลงโทษปรับผู้กระทำความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เป็นเงินสี่เท่าราคาของรวมทั้งค่าอากรด้วยเท่านั้นโดยมิได้คำนึงว่าจะมีผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกันหลายคนหรือไม่จึงต้องถือว่าพระราชบัญญัติศุลกากรได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 จะใช้มาตรา 31 แห่งประมวลกฎหมายอาญาซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลจะพิพากษาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกันให้ศาลลงโทษเรียงตามรายตัวบุคคล” ดังข้อฎีกาของโจทก์หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยรวมกันชอบแล้วส่วนข้อที่ศาลอุทธรณ์ปรับรวมกันแล้วให้แยกปรับเรียงตามรายตัวจำเลยต่อไปนั้น คดีไม่มีปัญหามาสู่ศาลฎีกา จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
โดยเหตุนี้จึงพิพากษายืน