คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1656/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,80 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,80 โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องดังนี้ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามมาตรา 289,80 โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์จึงฎีกาข้อหาดังกล่าวในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาความผิดตามมาตรา 288,80 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในหมู่บ้านโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่อสู้ขัดขวางร้อยตำรวจเอกระหงษ์ ใจแสนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายขณะปฏิบัติหน้าที่จับกุมจำเลยในข้อหามีอาวุธปืนดังกล่าวจำเลยใช้อาวุธปืนยิงร้อยตำรวจเอกระหงษ์1 นัด โดยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ลั่น และจำเลยใช้รถจักรยานยนต์ไม่มีหมายเลขทะเบียนขับขี่ไปโดยไม่ได้จดทะเบียนและเสียภาษีประจำปีขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 138, 140,288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8ทวิ, 72, 72ทวิพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 59 ริบอาวุธปืน กระสุนปืนและซองใส่กระสุนปืน จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ลงโทษข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก10 ปี ข้อหามีอาวุธปืน จำคุก 2 ปี ข้อหาพาอาวุธปืน จำคุก 1 ปีจำคุก 13 ปี ริบอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลาง โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 80 ปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 เพราะจำเลยไม่ทราบว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานนี้ ดังนี้ จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในฐานความผิดตามมาตรา 289, 80 โดยอาศัยข้อเท็จจริง กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 การที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทราบว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นการฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดฐานนี้ โจทก์คงฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะข้อหาฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามมาตรา 288, 80 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษากลับกันมา ซึ่งจากทางนำสืบของโจทก์คงมีแต่ร้อยตำรวจเอกระหงษ์ ใจแสน ผู้เสียหายเพียงปากเดียวที่เบิกความว่า จำเลยได้ชักปืนออกยิงผู้เสียหาย 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่น ส่วนพลตำรวจสันติ สีสม และนายวันชัย เจริญรูป ประจักษ์พยานอีก 2 ปาก ซึ่งอยู่รู้เห็นในเหตุการณ์พร้อมกันหาได้เบิกความรับรองในข้อนี้ไม่ แต่คงได้ความเพียงว่าผู้เสียหายกับจำเลยต่างกอดปล้ำกัน ซึ่งจากคำนายวันชัยว่า ผู้เสียหายเดินเข้าไปเอามือตบบริเวณลำตัวและที่เอวของจำเลยเพื่อค้นหาอาวุธปืน แต่จำเลยขัดขืนตามรูปเรื่องจึงน่าเป็นไปได้ว่าจำเลยพยายามขัดขวางไม่ยอมให้ผู้เสียหายตรวจค้นพบอาวุธปืนที่จำเลยพกติดตัวมาเพื่อจะยึดเอาไปการกอดปล้ำยื้อแย่งกันจึงเกิดขึ้น เมื่อผู้เสียหายเห็นว่าจำเลยไม่ยอมให้ตรวจค้นโดยดี แต่กลับต่อสู้ขัดขวางเช่นนั้นจึงจำต้องใช้อาวุธปืนยิงขึ้น 1 นัด จำเลยถึงยอมจำนน ดังนั้นตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายอันจะเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share