คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคน แม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง 7 คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้ คงให้ประหารชีวิตจำเลยสถานเดียว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย 7 คน และผู้เสียหาย 1 คน โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน ด้วยการกระทำทารุณโหดร้าย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289(4)(5), 80, 83, 91, 32,33 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่ง และลงโทษตามมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ จำคุก 6 เดือน กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(5) และมาตรา 289 (4)(5), 80การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียว ผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 289(4)(5) ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิตอีกกระทงหนึ่ง รวม 3 กระทง ประหารชีวิตและจำคุก 1 ปี 6 เดือนจำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4), 86 ให้จำคุกตลอดชีวิต ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาทุกกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พยานโจทก์ที่นำสืบมั่นคงเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย และผู้เสียหายจริง พยานฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลงจากบ้านนายชงไปแล้วประมาณ 20 นาที จึงได้กลับมาใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายดังกล่าวทันทีโดยมิได้พูดจากับใครอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 ตระเตรียมวางแผนมายิงผู้ตายและผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) แต่การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคนนั้นแม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง 7 คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(5) ด้วย…พยานโจทก์ที่นำสืบยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนดังโจทก์ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตและจำคุกจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้ และเรื่องนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า อาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเฉพาะกระบอกที่มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 72 วรรคสาม โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ปรับบทว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 72วรรคหนึ่งจึงไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) และ 289(4) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง 72 วรรคสาม, 72 ทวิวรรคสอง ที่แก้ไขแล้ว เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่นำโทษจำคุกมารวม คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 1 สถานเดียวนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share