คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะไม่มีส. ลูกจ้างที่ร้านอาหารของผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลแต่ก็ได้ความจากพนักงานสอบสวนตามบันทึกการชี้ตัวและคำให้การของ ส. ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย และในขณะที่ผู้เสียหายอยู่ที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ก็ได้เข้ามา กระทำอนาจารผู้เสียหาย ถึง 2 ครั้ง เป็นเวลานาน ซึ่งในห้องเปิดไฟสว่าง มองเห็นกันได้และอยู่ใกล้ชิดกัน น่าเชื่อว่าผู้เสียหายมีโอกาส มองเห็นและจำจำเลยที่ 1 ได้ และการที่ผู้เสียหาย ไปดูตัวคนร้ายที่ถูกจับอยู่ที่สถานีตำรวจเพราะอ่านพบข่าว และดูภาพคนร้ายจากหนังสือพิมพ์เหมือนคนร้ายที่กระทำ ต่อผู้เสียหาย ยิ่งทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนัก น่ารับฟังมากว่าผู้เสียหายจำคนร้ายได้ เมื่อดูตัวแล้วผู้เสียหายก็ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคนร้ายและชี้ตัวได้ถูกต้องผู้เสียหายยืนยันว่าเมื่อรู้สึกตัวที่โรงพยาบาลทรัพย์สิน ได้หายไปแม้ไม่ได้ความว่าจำเลยคนใดเอาทรัพย์สินไป แต่พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายถูกมอมยาและพาไปที่บ้านเกิดเหตุนานหลายชั่วโมง มีการให้ผู้เสียหายรับประทานยาอีก 2 ครั้งจนผู้เสียหายหมดสติหลับไป เมื่อฟื้นขึ้นที่โรงพยาบาลปรากฏว่า ทรัพย์สินหายไปและไม่พบตัวจำเลยที่ 1 กับพวกเช่นนี้ พยานโจทก์แวดล้อมกรณีมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจาก ข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกระทำผิดจริงตามฟ้อง พยานจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างฐานที่อยู่มีน้ำหนักน้อยทั้งจำเลยที่ 1 ได้ให้การ รับสารภาพในข้อหาปล้นทรัพย์ตามฟ้องจนศาลสืบพยานโจทก์ เกือบเสร็จแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ขอถอนคำให้การเดิมและ ให้การใหม่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278, 340, 340 ตรี, 83, 91 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 8,700 บาท แก่ผู้เสียหาย นับโทษจำเลยที่ 1และที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5816/2537 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 (ที่ถูกเป็นมาตรา 340 วรรคแรก),340 ตรี, 83 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ ให้ลงโทษจำคุกคนละ 18 ปี และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี อีกกระทงหนึ่งซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 22 ปี กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 8,700 บาท แก่ผู้เสียหาย และให้นับโทษจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5816/2537 ของศาลอาญาธนบุรี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว สำหรับความผิดตามฟ้องข้อ 1 ข. ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีด้วยนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องข้อ 1 ก. หรือไม่ โจทก์มีนางสมศรี มุ่งขันติวงศากุลผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ความว่า วันเกิดเหตุผู้เสียหายไปดูแลร้านอาหารที่บริเวณชั้น 6 ศูนย์การค้ามาบุญครองจนเวลาประมาณ 14 นาฬิกาผู้เสียหายไปซื้อก๋วยเตี๋ยวจากร้านอื่นซึ่งขายอยู่ในบริเวณเดียวกัน นำมาวางไว้บนโต๊ะซึ่งจัดไว้ให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารแล้วเดินไปริน น้ำดื่ม ห่างไปประมาณ10 เมตรและกลับมานั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวโดยรู้สึกว่ามีรสขมต่อมาครู่หนึ่งก็เกิดอาการมึนงงจนฟุบลงบนโต๊ะโดยยังมีความรู้สึกอยู่บ้างแต่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ รู้ว่ามีชายคนหนึ่งประคองพาเดินไปที่ร้านอาหารของผู้เสียหายและนางสาวแสงดาวลูกจ้างที่ร้านของผู้เสียหายสอบถามว่าผู้เสียหายเป็นอะไรชายคนดังกล่าวตอบว่าผู้เสียหายไม่สบายจะพาไปพบแพทย์หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกชายดังกล่าวประคองเดินลงมาชั้นล่างของศูนย์การค้าซึ่งมีชายอีกคนหนึ่งจอดรถจักรยานยนต์คอยอยู่แล้วให้ผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยมีชายคนหนึ่งขับอีกคนหนึ่งนั่งซ้อนท้ายต่อจากผู้เสียหายแล่นออกจากศูนย์การค้าไประหว่างทางผู้เสียหายหมดสติ เมื่อรู้สึกตัวพบว่านอนอยู่ในบ้านไม้เก่าหลังหนึ่งในห้องเปิดไฟสว่างเข้าใจว่าเป็นเวลากลางคืนรู้สึกอ่อนเพลียมากและหมดเรี่ยวแรง แล้วมีผู้หญิงคนหนึ่งคือจำเลยที่ 3 เข้ามาในห้อง ผู้เสียหายบอกว่าปวดศีรษะและไม่มีแรงจำเลยที่ 3 จึงนำยาเม็ดสีฟ้าขนาดเล็ก 5 ถึง 6 เม็ด มาให้ผู้เสียหายรับประทาน เสร็จแล้วผู้เสียหายรู้สึกง่วงนอนจำเลยที่ 3จึงดับไฟในห้องและออกจากห้องไป ต่อมามีจำเลยที่ 1 เข้ามาในห้องเปิดไฟพยายามถอดเสื้อผู้เสียหายแต่ถอดไม่ได้ จำเลยที่ 1ใช้มือล้วงเข้าไปภายในเสื้อจับหน้าอกผู้เสียหายอยู่นานหลายนาทีจนจำเลยที่ 3 เข้ามาในห้องถามว่าทำอะไร จำเลยที่ 1 จึงออกไปจำเลยที่ 3 ได้นำผ้าห่ม มาห่ม ให้ผู้เสียหายแล้วปิดไฟออกจากห้องไปอีก ไม่นานนักจำเลยที่ 1 ก็เข้ามาในห้องเปิดไฟและใช้มือทั้งสองข้างจับลำตัวผู้เสียหายถูไถไปมาและจับหน้าอกกับถอดกางเกงของผู้เสียหายออกทั้งหมดแล้วใช้มือถูไถอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ด้วย ผู้เสียหายพูดขอร้องให้หยุดแต่จำเลยที่ 1 ไม่หยุด พอดีจำเลยที่ 3 เข้ามาในห้องดังกล่าวอีกจำเลยที่ 1 จึงออกจากห้องไป ผู้เสียหายบอกจำเลยที่ 3ว่ารู้สึกเพลียง่วงและปวดศีรษะ จำเลยที่ 3 จึงให้รับประทานยาเม็ดสีฟ้า 5 ถึง 6 เม็ด เหมือนครั้งแรกแล้วผู้เสียหายหลับไปรู้สึกตัวอีกครั้งเพราะศีรษะกระแทกกับเหล็กแล้วอาเจียนจึงรู้ว่านั่งอยู่บนรถสามล้อเครื่อง มีจำเลยที่ 3 นั่งอยู่ข้าง ๆใช้มือลูบหลังให้หลังจากนั้นผู้เสียหายหมดสติไปอีกรู้สึกตัวอีกครั้งพบว่านอนอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาลกลางตรวจดูทรัพย์สินที่ตัวปรากฏว่าสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง 1 เส้น ราคาประมาณ 2,600 บาทแก้วรูปหยดน้ำเลี่ยมทองคำราคาประมาณ 1,000 บาท แหวนทองคำหนัก 2 สลึง 1 วง ราคาประมาณ 2,600 บาท และเงินสด2,500 บาท รวมทั้งหมดคิดเป็นเงิน 8,700 บาท หายไปคาดว่าถูกเอาไปขณะถูกวางยาระหว่างที่ผู้เสียหายหายตัวไปนายธีระ ศุภเมธีวรกุล สามีของผู้เสียหายซึ่งอยู่กินกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันด้วย และเมื่อผู้เสียหายกลับมาก็ได้ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวันแต่เจ้าพนักงานตำรวจบอกให้กลับไปก่อน ต่อมาระหว่างวันที่ 7ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2537 วันใดจำไม่ได้แน่ ผู้เสียหายอ่านหนังสือพิมพ์พบว่ามีผู้เสียหายอีกรายหนึ่งถูกกระทำคล้ายกันและเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวคนร้ายได้มีภาพถ่ายลงในหนังสือพิมพ์ด้วย เห็นภาพถ่ายคนร้ายคล้ายคนที่กระทำกับผู้เสียหายจึงไปขอดูตัวคนร้ายที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาผู้เสียหายดูตัวแล้วจำได้ว่าเป็นกลุ่มเดียวกันคือจำเลยทั้งสามนี้และยังได้ความจากแพทย์หญิงปาริฉัตร การปลื้มจิตต์ พยานโจทก์ซึ่งประจำอยู่ที่โรงพยาบาลกลางว่าได้ตรวจรักษาผู้เสียหายเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2536 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้เสียหายถูกมอมยา พยานได้พูดคุยกับผู้เสียหายเห็นว่ายังพูดจารู้เรื่องในขณะที่ถูกนำไปส่งโรงพยาบาล แต่พูดช้าเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน ปรากฏตามบัตรตรวจโรคเอกสารหมาย จ.12 นอกจากนี้โจทก์ยังมีพันตำรวจโทบุญเชิด พงษ์เผือก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยามาเบิกความอีกว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2537 ผู้เสียหายมาพบเพื่อขอดูตัวผู้ต้องหาโดยบอกว่าทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์สงสัยว่าผู้ต้องหาที่จับกุมไว้จะเป็นบุคคลคนเดียวกับที่เคยปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย เมื่อดูตัวแล้วผู้เสียหายบอกว่าจำผู้ต้องหาได้จึงบันทึกคำให้การของผู้เสียหายไว้ตามเอกสารหมาย จ.14 แล้วส่งให้ทางสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันดำเนินการ ต่อมาทางสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้ให้นางสาวแสงดาวชี้ตัวจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งปรากฏว่านางสาวแสงดาวชี้ตัวจำเลยที่ 1 ได้ถูกต้องตามบันทึกเอกสารหมาย จ.15 เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่มีนางสาวแสงดาวลูกจ้างที่ร้านอาหารของผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเพราะหาตัวไม่พบ แต่ก็ได้ความจากพันตำรวจโทไพฑูรย์พนักงานสอบสวนว่านางสาวแสงดาวเห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยที่ 1ประคองผู้เสียหายไปจากบริเวณร้านขายอาหารบอกว่าผู้เสียหายไม่สบายจะพาไปพบแพทย์ โดยนางสาวแสงดาวจำจำเลยที่ 1 ได้และชี้ตัวได้ถูกต้อง ปรากฏตามบันทึกการชี้ตัวเอกสารหมาย จ.15และคำให้การของนางสาวแสงดาว เอกสารหมาย จ.17 สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่ามีชายคนหนึ่งประคองพาเดินลงบันไดเลื่อนขณะรู้สึกตัวอยู่บ้างแต่อยู่ในความมึนงงไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ตอนอยู่ที่บ้านเกิดเหตุเมื่อรู้สึกตัวจำเลยที่ 1ได้เข้ามากระทำอนาจารผู้เสียหาย 2 ครั้ง เป็นเวลานานและในห้องเปิดไฟสว่างมองเห็นกันได้และอยู่ใกล้ชิดกัน ผู้เสียหายได้สติแล้วเพียงแต่อ่อนเพลียไม่มีแรงไม่อาจจะขัดขืนได้เชื่อว่าผู้เสียหายมีโอกาสมองเห็นและจำจำเลยที่ 1 ได้การที่ผู้เสียหายไปดูตัวคนร้ายซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับได้ที่สถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยาเพราะอ่านพบข่าวและดูภาพคนร้ายจากหนังสือพิมพ์เหมือนคนร้ายที่กระทำต่อผู้เสียหายยิ่งทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายมีน้ำหนักน่ารับฟังมากยิ่งขึ้นว่าผู้เสียหายสามารถจดจำคนร้ายได้ ทั้งเมื่อดูตัวแล้วผู้เสียหายก็ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคนร้ายและภายหลังเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจัดให้ชี้ตัวคนร้าย ผู้เสียหายก็สามารถชี้ตัวจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ถูกต้องปรากฏตามบันทึกการชี้ตัวและภาพถ่ายหมาย จ.7 ถึง จ.10เมื่อผู้เสียหายหายตัวไปนายธีระสามีของผู้เสียหายได้ไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ตามคำของแพทย์หญิงปาริฉัตรซึ่งตรวจรักษาผู้เสียหายก็ได้ความตรงกันว่าทางโรงพยาบาลกลางได้รับตัวผู้เสียหายไว้รักษาเวลาประมาณ 2 นาฬิกา ของวันที่ 3 ธันวาคม 2536 โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้เสียหายถูกมอมยาโดยผู้เสียหายพูดจาช้าเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน สอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายข้างต้นและผู้เสียหายยืนยันว่าเมื่อรู้สึกตัวที่โรงพยาบาลปรากฏว่าทรัพย์คือเครื่องทองรูปพรรณและเงินสดรวมเป็นเงิน 8,700 บาท ของผู้เสียหายได้หายไป แม้ไม่ได้ความจากผู้เสียหายว่าจำเลยคนใดเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไป แต่พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายถูกมอมยาและพามาที่บ้านเกิดเหตุนานหลายชั่วโมงและมีการให้ผู้เสียหายรับประทานยาอีก 2 ครั้ง จนผู้เสียหายหมดสติหลับไป เมื่อฟื้นขึ้นที่โรงพยาบาลปรากฏว่าทรัพย์สินดังกล่าวหายไปและไม่พบตัวจำเลยที่ 1 กับพวกเช่นนี้ พยานโจทก์แวดล้อมกรณีมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1ได้ร่วมกระทำผิดจริงตามฟ้องพยานจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างฐานที่อยู่มีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพในข้อหาปล้นทรัพย์ตามฟ้องจนศาลสืบพยานโจทก์เกือบเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้องเป็นพิรุธ พยานจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักล้างพยานโจทก์ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share