คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1653/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐแต่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งเรียกโดยย่อว่า”ร.ส.พ.” ก็จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ.2496 ซึ่งมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาทโดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาทและจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร” และทางราชการได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดเป็นของรัฐ ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
จำเลยเป็นพนักงานประเภทประจำขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์อันเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล มีหน้าที่ช่วยงานในการถ่ายภาพเอ็กซเรย์ฯ รับเงินค่าเอ็กซเรย์และออกใบเสร็จรับเงินด้วย จำเลยจึงเป็นพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าเอ็กซเรย์จากผู้ที่มาเอ็กซเรย์รายละ 35 บาทแล้ว จำเลยก็เขียนจำนวนเงินและวันเดือนปีที่รับเงินในใบเสร็จรับเงินท่อนแรกที่เป็นต้นฉบับและมอบให้แก่ผู้ชำระเงินไปตามความจริง ภายหลังจำเลยจึงเขียนใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองและท่อนที่สามที่เป็นสำเนา โดยเขียนจำนวนเงินน้อยลงกว่าที่ได้รับและเขียนวันเดือนปีที่ได้รับเงินไม่ตรงความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิ ต่อมาจำเลยใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินค่าเอ็กซเรย์ไว้เท่าจำนวนที่ปรากฏในสำเนาใบเสร็จรับเงินปลอม จึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอมและยักยอกเบียดบังเงินค่าเอ็กซเรย์ส่วนที่เหลือจากนำส่งเจ้าหน้าที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ แต่การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานประเภทประจำขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) อันเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นผู้ช่วยพยาบาลแผนกสวัสดิการมีหน้าที่ช่วยงานในการถ่ายภาพเอ๊กซเรย์ฯ เก็บเงินกับออกใบเสร็จรับเงินค่าเอ๊กซเรย์ เมื่อระหว่างวันที่ 14 กรกฎาคม 2512 เวลากลางวันถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2514 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน จำเลยได้รับเงินค่าเอ๊กซเรย์จากพนักงานเข้าใหม่และออกใบเสร็จรับเงินให้ไว้รายละ 35 บาท จำนวน 294ราย เป็นเงิน 10,290 บาท แล้วบังอาจปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเอ๊กซเรย์อันเป็นเอกสารสิทธิจำนวน 294 ราย โดยเขียนวันเดือนปีขึ้นใหม่ และเขียนในช่องจำนวนเงินว่า 25 บาทบ้าง 10 บาทบ้าง แล้วนำใบเสร็จรับเงินปลอมและจำนวนเงินเท่าที่จำเลยปลอมขึ้นส่งต่อเจ้าหน้าที่ อันเป็นความเท็จและทุจริตต่อหน้าที่ เงินที่เหลือนอกนั้นจำเลยยักยอกเอาไปเสีย การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ และจำเลยกระทำเพื่อให้องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์และเจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่าเป็นสำเนาใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง

ต่อมาจำเลยบังอาจใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเอ๊กซเรย์ปลอมรวม 294รายที่จำเลยปลอมขึ้นอ้างแสดงต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์พร้อมกับจำนวนเงินค่าเอ๊กซเรย์ตามที่ลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินปลอม เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินค่าเอ๊กซเรย์ไว้เท่าจำนวนที่ปรากฏในสำเนาใบเสร็จรับเงินปลอมในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ กับจำเลยบังอาจยักยอกเบียดบังเงินค่าเอ๊กซเรย์ที่รับไว้จากพนักงานเข้าใหม่ส่วนที่เหลือจากนำส่งเจ้าหน้าที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินค่าเอ๊กซเรย์ที่จำเลยทำปลอมขึ้นจำนวน6,275 บาทไปเป็นประโยชน์ของจำเลยโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลทุ่งพญาไทอำเภอพญาไท กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 352, 353 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4, 8, 10

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม แต่เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์และฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดการทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต ความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้และองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลย จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้จำคุก 5 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ข้อหานอกนี้ให้ยก

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐนั้น ปรากฏว่าองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “ร.ส.พ.” จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ พ.ศ. 2496 และมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้กำหนดทุนของ ร.ส.พ. เป็นจำนวนเงินห้าสิบล้านบาทโดยรัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิมสิบล้านบาท และจ่ายเพิ่มเติมเป็นคราว ๆ ตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร” และทางราชการได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงเป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้วองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีทุนห้าสิบล้านบาทโดยทุนทั้งหมดเป็นของรัฐ ดังนั้นแม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่า องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์มีทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ ฟ้องโจทก์ก็สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว

อนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานประเภทประจำขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์อันเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล มีหน้าที่ช่วยงานในการถ่ายภาพเอ๊กซเรย์ฯ รับเงินค่าเอ๊กซเรย์และออกใบเสร็จรับเงินด้วย จำเลยเป็นผู้ปฏิบัติงานในองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ซึ่งเป็นพนักงานตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3เมื่อจำเลยได้รับเงินค่าเอ๊กซเรย์จากผู้ที่มาเอ๊กซเรย์รายละ 35 บาทแล้ว จำเลยก็เขียนจำนวนเงินและวันเดือนปีที่รับเงินใบเสร็จรับเงินท่อนแรกที่เป็นต้นฉบับและมอบให้แก่ผู้ชำระเงินไปตามความจริง ภายหลังจำเลยจึงเขียนใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองและท่อนี่สามที่เป็นสำเนา โดยเขียนจำนวนเงินน้อยลงกว่าที่ได้รับและเขียนวันเดือนปีที่ได้รับเงินไม่ตรงความจริง การที่จำเลยเขียนใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองและท่อนที่สามไม่ตรงกับใบเสร็จรับเงินท่อนแรกที่เป็นต้นฉบับทั้งจำนวนเงินและวันเดือนปีที่ได้รับเงิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินอันเป็นเอกสารสิทธิ ต่อมาจำเลยใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินที่จำเลยปลอมขึ้นไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์พร้อมด้วยจำนวนเงินตามที่ลงในสำเนาใบเสร็จรับเงินปลอม เพื่อแสดงว่าจำเลยได้รับเงินค่าเอ๊กซเรย์ไว้เท่าจำนวนที่ปรากฏในสำเนาใบเสร็จรับเงินปลอม จึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 และ 268 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 268

การที่จำเลยปลอมสำเนาใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองและท่อนที่สามโดยเขียนจำนวนเงินน้อยกว่าในใบเสร็จรับเงินท่อนแรกที่เป็นต้นฉบับ แล้วนำใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปอ้างต่อเจ้าหน้าที่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์พร้อมกับเงินค่าเอ๊กซเรย์ตามจำนวนที่ระบุในใบเสร็จรับเงินท่อนที่สองที่จำเลยทำปลอมขึ้น ก็เพื่อยักยอกเบียดบังเงินค่าเอ๊กซเรย์ส่วนที่เหลือจากนำส่งเจ้าหน้าที่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกันแต่ผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 265 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502มาตรา 4 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษและการลดโทษที่ลงแก่จำเลยให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share