คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1651/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้นำหนังสือมอบอำนาจของผู้ช่วยหัวหน้าเขตซึ่งมีถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำราจนครบาลขอให้ดำเนินคดีแก่ ม. ตามพระราชบัญญัติควรคุมทอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 70 ไปแจ้งความและมอบหนังสือมอบอำนาจให้แก่พนักงานสอบสวนแล้ว จำเลยย่อมหมดหน้าที่ การที่จำเลยเรียกและรับเงินจาก ม. และแก้ไขเอกสารดังกล่าวในภายหลังเป็นการกระทำนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการ มิใช่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฏิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบจำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือราชการของผู้บังคับบัญชาของจำเลยไม่ใช่หนังสือของจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจที่จะแก้ไขจากมาตรา 70 เป็นมาตรา 65 ซึ่งมีอัตราโทษน้อยกว่า กรณีอาจเกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวนหรือทางราชการกรุงเทพมหานครดังนี้ จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานได้กระทำผิดต่อหน้าที่ราชการเรียกและรับเงินทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้ไร้ประโยชน์ และปลอมเอกสารราชการขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐, ๙๑, ๑๔๙, ๑๕๗, ๑๘๕, ๒๖๔ และ ๒๖๕ และคืนเงินของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕ ให้จำคุก ๒ ปี คืนเงินของกลางแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ และมาตรา ๒๖๕ แต่เป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งผิดต่อกฎหมายหลายบทวางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๔๙ ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๙๐ วางโทษจำคุก ๕ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “……….ข้อเท็จจริงซึ่งจำเลยไม่โต้เถียงชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยรับราชการในตำแหน่งนายช่างโยธา หมวดควบคุมสาย ๓ งานโยธา เขตบางเขน มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมก่อสร้างอาคาร เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๔ จำเลยตรวจพบว่า นายมรกตศรีปทุม หรือศรีประทุม เจ้าของอาคารตราดสดลาดพร้าว ซึ่งเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อขอให้ดำเนินคดีแก่นายมรกตในข้อหาผิดพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๗๐ ผู้บังคับบัญชาของจำเลยได้พิจารณาตามลำดับชั้นแล้วในที่สุดผู้ช่วยหัวหน้าเขตบางเขนผู้บังคับบัญชาของจำเลยซึ่งปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงออกหนังสือราชการที่กทม. ๙๐๑๑/๘๗๔๗ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๒๔ ถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินขอให้ดำเนินคดีแก่นายมรกต ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๐ โดยมอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้แจ้งความปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔ จำเลยได้นำหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.๔ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและมอบหนังสือดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนไปแล้ว ต่อมานายมรกตได้ไปติดต่อกับจำเลยขอให้ช่วยเหลือโดยให้ระงับการดำเนินคดี จำเลยได้เรียกร้องเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท จากนายมรกต โดยรับจะช่วยเหลือนายมรกตให้ได้รับโทษน้อยลง นายมรกตตกลงยินยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยตามที่เรียกร้อง และกำหนดชำระเงินกัน แต่ก่อนจะถึงกำหนดนัดนายมรกตได้ไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงวางแผนจับกุมจำเลย ครั้นวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ซึ่งเป็นวันนัด นายมรกตจึงนำเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทไปมอบให้แก่จำเลยที่สำนักงานเขตบางเขน จำเลยได้รับหนังสือมอบอำนาจและเอกสารหมาย จ.๔ จากร้อยตำรวจโทษคำภีร์แก้วศรีวงษ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน แล้วจัดการแก้ไขเลขมาตราซึ่งกล่าวหานายมรกตจากมาตรา ๗๐ เป็นมาตรา ๖๕ ซึ่งอัตราโทษน้อยกว่า จากนั้นจำเลยคืนหนังสือมอบอำนาจให้แก่ร้อยตำรวจโทคำภีร์ เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบปรับนายมรกตเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปป. และเจ้าพนักกานตำรวจซึ่งสังเกตการณ์อยู่ในบริเวณนั้นจึงเข้าทำการจับกุมและยึดเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทจากจำเลยเป็นของกลาง พิเคราะห์แล้วตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ บัญญัติความหมายของ “เจ้าพนักงาน” ว่าได้แก่ (๑) นายกเทศมนตรี สำหรับในเขตเทศบาล (๒) ประธานกรรมการสุขาภิบาล สำหรับในเขตสุขาภิบาล (๓) ผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด (๔) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร (๕) ปลัดเมืองพัทยา สำหรับในเขตเมืองพัทยา (๖) หัวหน้าผู้บริหารท้องถิ่นขององค์การปกครองท้องถิ่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ สำหรับในเขตราชการส่วนท้องถิ่นนั้นบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดตัวผู้เป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นไว้โดยชัดแจ้ง ฉะนั้นกรณีของจำเลยซึ่งรับราชการในตำแหน่งช่างโยธา มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตท้องที่บางเขน จึงมิใช่เจ้าพนักงานท่องถิ่นที่จะมีอำนาจแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติควมคุมอาคารได้โดยลำพัง ศาลฎีกาได้ตรวจคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ ๗๗/๒๕๒๓ เรื่องขั้นตอนและวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๑ กรณีการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารโดยมิได้รับอนุญาตแล้ว คำสั่งดังกล่าวระบุให้หัวหน้าเขตเป็นผู้ดำเนินคดีหรือสั่งให้รื้อถอนอาคาร ฯลฯ นั้น แม้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ตรวจพบการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมอาคารและได้รับมอบอำนาจให้จำเลยไปแจ้งความดำเนินคดีแก่นายมรกตผู้เสียาหายแล้วตามเอกสารหมาย จ.๔ ก็ตามเมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ดำเนินการแจ้งความที่ได้รับมอบหมายแล้ว คดีไม่ได้ความว่าทางหัวหน้าเขตได้มอบหมายให้จำเลยมีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับความผิด ที่ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่นายมรกตผู้เสียหายต่อไปอย่างไรอีก ผลการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนเป็นประการใดนั้น ก็ต้องรายงานให้ทางเขตทราบตามข้อความท้ายเอกสารหมาย จ.๔ จำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตามคำเบิกความของนายเทอดศักดิ์ ชีวะก้องเกียรติ ผู้ช่วยหัวหน้าเขตบางเขน และนายชูชีพ ศิลปรัตน์หัวหน้าเขตบางเขน พยานโจทก์ก็เบิกความรับรองในข้อนี้ว่า เมื่อจำเลยแจ้งความตามที่รับมอบหมายแล้วก็หมดหน้าที่ การดำเนินคดีต่อไปเป็นเรื่องของหัวหน้าเขตดังนั้นแม้การที่จำเลยเรียกและรับเงินจากนายมรกตในการแก้ไขเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งทำให้นายมรกตได้รับโทษน้อยลงหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้กระทำนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลย มิใช่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องปฎิบัติหรือละเว้นหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙………. หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.๔ เป็นหนังสือราชการของผู้บังคับบัญชาของจำเลยไม่ใช่หนังสือของจำเลย การที่ผู้บังคับบัญชาของจำเลยมีหนังสือดังกล่าวถึงสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธินกล่าวหาว่า นายมรกตกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๗๐ นั้นแสดงว่า ผู้บังคับบัญชาของจำเลยประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่นายมรกตตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ จำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ ที่จะไปแก้ไขหนังสือมอบอำนาจของผู้บังคับบัญชาได้ การที่จำเลยแก้ไขหนังสือมอบอำนาจจากมาตรา ๗๐ เป็นมาตรา ๖๕ ย่อมทำให้พนักงานสอบสวนเข้าใจว่า ผู้บังคับบัญชาของจำเลยประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่นายมรกตตามมาตรา ๖๕ อันเป็นบทที่มีอัตราโทษน้อยกว่ามาตรา ๗๐ กรณีจึงอาจเกิดความเสียหายแก่พนักงานสอบสวนหรือทางราชการกรุงเทพมหานครการกระทำของจำเลยเป็ฯความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๕ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำโดยทุจริตหรือไม่ซึ่งไม่ใช่องค์ประกองของความผิดฐานปลอมเอกสาร………”
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ วรรคแรก ให้จำคุก ๒ ปี คืนเงินของกลางแก่เจ้าของ.

Share