คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1650/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดเข้าจัดการห้าง ต้องรับผิดร่วมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเช่นเดียวกับผู้เป็นหุ้นส่วนสามัญ

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดร่วมกันในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ออกเช็คให้โจทก์แล้วไม่มีเงินจ่ายตามเช็ค โดยให้ใช้หนี้แก่โจทก์ 20,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

“ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการ แต่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1จัดการห้างหุ้นส่วนทุกอย่างตลอดทั้งการออกเช็ค และเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 เต็มใจและปฏิบัติการของห้างเรื่อย ๆ มาจำเลยที่ 3 ไม่เคยเซ็นชื่อเป็นผู้สั่งในเช็คของบริษัทวาสนาเลย จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของห้างประทับตราห้างจำนวนเงิน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์สำหรับเป็นค่าจ้างทำบานประตูหน้าต่าง เมื่อถึงกำหนดโจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน ธนาคารไม่จ่ายอ้างว่าไม่มีเงินของผู้ออกเช็คในธนาคารพอที่จะจ่าย

ข้อที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้รายนี้เป็นส่วนตัวด้วยหรือไม่

จำเลยที่ 1 เถียงอยู่ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดรายนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของห้างย่อมไม่มีสิทธิจะฟ้องผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ อ้าง มาตรา 1095 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1087 ห้ามมิให้หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดจัดการห้าง ให้แต่หุ้นส่วนที่ไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นเป็นผู้จัดการได้ และมาตรา 1088 บัญญัติว่า ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน

ฉะนั้น เมื่อได้ความตามข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปจัดการงานของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดร่วมด้วย”

พิพากษายืน

Share