คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 165/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายยืมเงินจำเลยไปโดยเอาเข็มขัดนากปลอมให้ไว้เป็นประกันจำเลยทวงถาม ผู้ตายชำระเงินคืนให้บ้าง ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ผู้ตายต่อว่าจำเลยเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ผู้ตายยืมและจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลย ถึงกับจำเลยต้องบอกว่าเรื่องเงินให้แล้วกันไป ทำให้จำเลยมีความเจ็บใจคิดหาโอกาสทำร้ายผู้ตายตลอดมา ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าได้มีการโต้เถียงกันอันจะเป็นเหตุให้จำเลยยิงผู้ตายในขณะนั้น ทั้งไม่มีสาเหตุอื่นที่จำเลยจะยิงผู้ตาย การที่จำเลยมีความเจ็บใจและคิดหาโอกาสทำร้ายผู้ตายเมื่อมีโอกาสจึงใช้อาวุธปืนที่เตรียมติดตัวไปยิงผู้ตาย ถือได้ว่าเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและใช้อาวุธปืนยิงนายกุล นิ่มภักดิ์ โดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุให้นายกุลถึงแก่ความตายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 32, 33, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง
โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 ปี รวมโทษจำคุกฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนอีก 1 ปี เป็นจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘พิเคราะห์แล้ว โจทก์มีพันตำรวจตรีสมานคำดอนใจ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจอำเภออุ้มผาง เป็นพยานเบิกความยืนยันว่าในชั้นสอบสวนจำเลยให้การถึงเหตุที่ยิงผู้ตายว่าผู้ตายยืมเงินจำเลยไปโดยเอาเข็มขัดนากปลอมมาให้ไว้เป็นประกัน จำเลยทวงถาม ผู้ตายก็ชำระเงินคืนให้บ้าง ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ผู้ตายต่อว่าจำเลยเกี่ยวกับเรื่องเงินที่ผู้ตายยืมและจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลย ถึงกับจำเลยต้องบอกว่าเรื่องเงินนั้นให้แล้วกันไป จำเลยมีความเจ็บใจและคิดหาโอกาสทำร้ายผู้ตายตลอดมา วันเกิดเหตุจำเลยได้โอกาสจึงใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปด้วยยิงผู้ตายตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 และจ.9 ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้เถียงว่าคำให้การของจำเลยดังกล่าวนั้นได้มาโดยมิชอบประการใด ตามคำแก้ฎีกาของจำเลยเองก็เจือสมกับที่ให้การในชั้นสอบสวนว่าผู้ตายยืมเงินจำเลย เมื่อถูกทวงถามผู้ตายแสดงกิริยาไม่พอใจและนำอาวุธปืนออกมาจะยิงจำเลยจึงเชื่อได้ว่าจำเลยให้การชั้นสอบสวนไปตามความจริงด้วยความสมัครใจและได้ความจากนางบัวไขภริยาผู้ตายว่าก่อนที่จะเกิดเหตุ ผู้ตายเพียงแต่ถามจำเลยว่าไปไหนมา ไม่ปรากฎว่าได้มีการโต้เถียงกันอันจะเป็นเหตุให้จำเลยยิงผู้ตายในขณะนั้นและนอกจากนี้ก็ไม่มีสาเหตุอื่นที่จำเลยจะยิงผู้ตาย การที่จำเลยมีความเจ็บใจและคิดหาโอกาสทำร้ายผู้ตาย เมื่อได้โอกาสจึงใช้อาวุธปืนที่เตรียมติดตัวไปยิงผู้ตายเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่จรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289 (4) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา289 (4) ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกจำเลยตลอดชีวิต เมื่อรวมกับโทษจำคุก 6 เดือนในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีกกระทงหนึ่งแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยได้เพียงตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์’

Share