คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสามให้การแล้ว เฉพาะจำเลยที่ 1 ยังฟ้องแย้งโจทก์ และมีคำขอให้บังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งด้วยแต่คำท้าของคู่ความที่ว่า ถ้าฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน ให้ฝ่ายนั้นแพ้คดีนั้น มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าให้วินิจฉัยจากฟ้องโจทก์กับคำให้การจำเลยอย่างเดียว จึงต้องแยกวินิจฉัยตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1กับคำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วย เสมือนเป็นคนละสำนวนกับฟ้องเดิมของโจทก์
ฟ้องของโจทก์อ้างว่า ที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1เช่าทำแล้วไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จะเข้าทำจำเลยทั้งสามกลับบุกรุกเข้าทำทั้งแปลง เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงฟ้องเรียกค่าเช่ากับค่าเสียหายจำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเช่านาพิพาทจากโจทก์เมื่อ 12 ปีมานี้ โจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วมอบที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ครอบครองตลอดมาเกินกว่า 10 ปีจนบัดนี้ ไม่ใช่ที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสามไม่เคยบุกรุกที่ดินโจทก์ ดังนี้ เป็นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยตลอด และที่นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ส.ค.1 ของโจทก์ไม่ใช่หนังสือสำคัญสำหรับที่พิพาทนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าทำนาพิพาทและจำเลยทั้งสามบุกรุกที่ของโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ โจทก์ก็ต้องแพ้คดีตามคำท้า คือยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยครอบครองตลอดมากว่า 10 ปี ไม่เคยเช่าจากโจทก์นั้น โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้งอยู่ว่า ไม่เคยขายให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำนาอยู่โดยเช่าจากโจทก์ ดังนี้ แม้จะเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยที่ 1 ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนให้สมฟ้องแย้งจึงจะบังคับห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่พิพาทได้ตามคำขอท้ายฟ้องแย้ง ส่วนคำขอบังคับให้โจทก์โอนที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานอำเภอนั้นบังคับไม่ได้เพราะเป็นที่ดินมือเปล่า ศาลได้แต่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่พิพาทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1ไม่นำสืบ ก็ต้องยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คู่ความท้ากันว่า หากฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน ให้ฝ่ายนั้นแพ้คดี ขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องหน้าที่นำสืบเพียงอย่างเดียว และพิพากษาบังคับคดีไปตามคำขอของฝ่ายชนะ โดยโจทก์จำเลยไม่สืบพยาน หากจำเลยแพ้คดี ให้คิดค่าเช่าและค่าเสียหายปีละ 1,000 บาทจนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่พิพาท

ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน พิพากษาห้ามจำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกับที่พิพาทต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าที่ค้าง 1,000บาท และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายปีละ 1,000 บาทตั้งแต่ปีนี้จนกว่าจะเลิกเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ตลอดถึงฟ้องแย้ง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบก่อน พิพากษากลับว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง และยกฟ้องโจทก์ คำขอของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เมื่อโจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสามให้การแล้วเฉพาะจำเลยที่ 1 ยังฟ้องแย้งโจทก์ และมีคำขอให้บังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งด้วย แต่คำท้าของคู่ความที่ว่าถ้าฝ่ายใดมีหน้าที่นำสืบก่อน ให้ฝ่ายนั้นแพ้คดีนั้น มิได้มีข้อจำกัดไว้ว่าให้วินิจฉัยจากฟ้องโจทก์กับคำให้การจำเลยอย่างเดียว จึงต้องแยกวินิจฉัยคดีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 กับคำให้การแก้ฟ้องแย้งด้วย เสมือนเป็นคนละสำนวนกับฟ้องเดิมของโจทก์

ฟ้องของโจทก์อ้างว่าที่นาพิพาทเป็นของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 เช่าทำแล้วไม่ชำระค่าเช่า โจทก์จะเข้าทำ จำเลยทั้งสามกลับบุกรุกเข้าทำทั้งแปลง เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย จึงฟ้องเรียกค่าเช่ากับค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเช่านาพิพาทจากโจทก์เมื่อ 12 ปีมานี้ โจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยที่ 1 แล้วมอบที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 ครอบครองตลอดมาเกินกว่า 10 ปีจนบัดนี้ไม่ใช่ที่ของโจทก์ และจำเลยทั้งสามไม่เคยบุกรุกที่ดินโจทก์ ดังนี้ เป็นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยตลอด และที่นาพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ส.ค.1 ของโจทก์ไม่ใช่หนังสือสำคัญสำหรับที่พิพาทนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนว่าโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เช่าทำนาพิพาทจริงหรือไม่ และจำเลยทั้งสามบุกรุกที่ของโจทก์จริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบ โจทก์ก็ต้องแพ้คดีตามคำท้า คือยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม

ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ว่าโจทก์ขายนาพิพาทให้จำเลยครอบครองตลอดมากว่า 10 ปี ไม่เคยเช่าจากโจทก์นั้น โจทก์ให้การปฏิเสธฟ้องแย้งอยู่ว่าไม่เคยขายให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำนาอยู่โดยเช่าจากโจทก์ ดังนี้ แม้จะเป็นที่ดินมือเปล่า จำเลยที่ 1 ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบก่อนให้สมฟ้องแย้ง จึงจะบังคับห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่พิพาทได้ ตามคำขอท้ายฟ้องแย้ง ส่วนคำขอบังคับให้โจทก์โอนที่พิพาทต่อเจ้าพนักงานอำเภอนั้น บังคับไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินมือเปล่า ศาลได้แต่พิพากษาว่าจำเลยที่ 1มีสิทธิครอบครองที่พิพาทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบ ก็ต้องยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชนะคดีตามฟ้องแย้งโดยชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองและห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับที่พิพาท จึงคลาดเคลื่อน

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ด้วย

Share