คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649-1664/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่โจทก์บางคนซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานหยุดงานเข้าร่วมชุมนุมกับลูกจ้างที่มีหน้าที่ดังกล่าวด้วย เป็นเรื่องที่โจทก์ดังกล่าวสามารถรู้สำนึกและคาดหมายถึงผลของการกระทำของตนกับพวกได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ต้องถือว่าโจทก์ทั้งหมดร่วมกันจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยภาพรวมว่าโจทก์ทั้งสิบหกคนทั้งที่มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานตามแผนการผลิตได้ละทิ้งหน้าที่ไม่ไปปฏิบัติงานอันเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งสิบหกสำนวนนี้เดิมศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 2902/2548,3738/2548, 3985/2548, 1252-1269/2549 แต่คดีทั้งยี่สิบเอ็ดสำนวนยุติไปแล้วโดยการถอนฟ้อง และศาลแรงงานกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว คดีคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสิบหกสำนวนนี้ โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ถึงที่ 30 ที่ 33 และที่ 34 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสิบหกฟ้องว่า โจทก์ทั้งสิบหกเป็นลูกจ้างของจำเลย มีระยะเวลาการทำงาน ตำแหน่ง อัตราค่าจ้างสุดท้าย กำหนดการจ่ายค่าจ้างและวันที่เลิกจ้างตามคำฟ้องและแต่ละสำนวน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 จำเลยได้ประกาศคำสั่งเลิกจ้างให้มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกทันที โดยอ้างเหตุว่าร่วมกันจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรง และถือว่าละทิ้งหน้าที่ไปหรือกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้สำเร็จลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต มีพฤติกรรมต่อต้านการบริหารงานของนายจ้างอย่างรุนแรง เป็นปฏิปักษ์และก้าวร้าวต่อผู้บริหาร จำเลยไม่ไว้วางใจให้ร่วมงานกันต่อไป ความจริงโจทก์ทั้งสิบหกไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างค้างชำระ ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกตามคำขอท้ายฟ้องแต่ละสำนวน
จำเลยทั้งสิบหกสำนวนให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันทำงานตามปกติต่อเนื่องไปถึงกลางคืนของวันดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบหกร่วมกับพนักงานอีกจำนวนหนึ่งของจำเลยผละงานละทิ้งหน้าที่ร่วมกันชุมนุมที่สนามหญ้าภายในบริเวณที่ทำการของจำเลย ใช้เครื่องขยายเสียงรบกวนการทำงานกล่าวโจมตีผู้บริหารของจำเลย นำสุราเข้ามารับประทานในระหว่างชุมนุม มีการทำลายทรัพย์สินของจำเลย โดยต้องการให้ปลดกรรมการผู้จัดการของจำเลยออกจากตำแหน่ง จำเลยได้แจ้งให้กลับเข้าทำงานแต่โจทก์ทั้งสิบหกกับพวกเพิกเฉย อีกทั้งไม่ยอมส่งตัวแทนมาเจรจาหาข้อยุติ แสดงกิริยาก้าวร้าวไม่สุภาพต่อผู้บังคับบัญชา การกระทำทั้งหมดทำให้จำเลยเสียชื่อเสียง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง หรือฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมเป็นกรณีร้ายแรง และถือว่าผละงานละทิ้งหน้าที่ไปหรือกระทำการอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างชุมนุมโจทก์ทั้งสิบหกร่วมกันทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหาย จำเลยต้องเสียค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสิบหกที่ร่วมกันผละงานละทิ้งหน้าที่ในวันดังกล่าวโดยไม่ได้ทำงานให้จำเลย ทำให้จำเลยไม่สามารถผลิตตามแผนการผลิตที่วางไว้ ไม่สามารถส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทันตามกำหนดต้องจ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม และจ้างที่ปรึกษาด้านกฎหมายมาดูแลในเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังทำให้จำเลยเสียโอกาสทางการค้าไม่สามารถนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันตามกำหนด ทำให้ต้องรับภาระเสียภาษีเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 และต้องเสียค่าจ้างบริษัทตรวจสอบบัญชีและที่ปรึกษาวางแผนการเงินเพื่อดำเนินการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 17,892,609.37 บาท จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบหกถึงวันที่ 23 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างแล้ว ขอให้ยกฟ้อง และขอฟ้องแย้งให้โจทก์ทั้งสิบหกร่วมกันชำระค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสิบหกให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสิบหกไม่ได้ร่วมชุมนุมกับพนักงานในวันเกิดเหตุ ไม่ได้ก่อหรือมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสิบหกครบถ้วนแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องและฟ้องแย้ง
โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 28 ถึงที่ 30 ที่ 33 และที่ 34 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ถึงที่ 9 ที่ 12 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 28 ถึงที่ 30 ที่ 33 และที่ 34 รวม 16 คน เป็นพนักงานของจำเลย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2548 ซึ่งเป็นวันทำงานตามปกติในระหว่างเวลาทำงาน โจทก์ทั้งสิบหกร่วมกับพนักงานอื่นอีกจำนวนหนึ่งร่วมกันชุมนุมภายในบริเวณโรงงานของจำเลยโดยไม่เข้าทำงานเพื่อเรียกร้องให้นายโยธิน กรรมการผู้จัดการของจำเลยลาออกจากตำแหน่ง ก่อนหยุดงานโจทก์ทั้งสิบหกกับพวกไม่ได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อจำเลยให้ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ ฝ่ายบริหารของจำเลยปิดประกาศให้ผู้ร่วมชุมนุมกลับเข้าทำงาน นายมนตรีพนักงานตรวจแรงงานช่วยชี้แจ้งและแจ้งขั้นตอนการหยุดงานหรือการยื่นข้อเรียกร้องของลูกจ้างตามกฎหมายให้โจทก์ทั้งสิบหกกับพวกทราบแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดเชื่อฟังหรือกลับเข้าทำงาน และยังคงชุมนุมกันต่อไปตลอดทั้งวันทั้งคืน การผลิตสินค้าของจำเลยมีการวางแผนการผลิตไว้ล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์และรายวันเป็นขั้นตอน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์ทั้งสิบหกกับพวกเป็นการละทิ้งหน้าที่ และเมื่อจำเลยมีการวางแผนการผลิตไว้เป็นขึ้นตอนแล้วการละทิ้งหน้าที่จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างเสียหาย รวมทั้งฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยว่าด้วยวินัยและโทษทางวินัยในหมวดที่ 9 หลายข้อที่สำคัญเป็นกรณีร้ายแรง เป็นการกระทำอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในส่วนที่โจทก์แต่ละคนยังไม่ได้ใช้สิทธิ ทั้งการเลิกจ้างของจำเลยมีเหตุสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เจตนาในการร่วมชุมนุมของโจทก์ทั้งสิบหกประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นไปในทางที่ดี โจทก์แต่ละคนไม่อาจทราบถึงการที่จำเลยเตรียมนำกิจการเข้าตลาดหลักทรัพย์และการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งอยู่ในอำนาจของฝ่ายบริหาร จำเลยนำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบหกทำให้จำเลยเสียหายตามฟ้องแย้ง
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบหกว่า การที่ศาลแรงงานกลางใช้ดุลพินิจโดยไม่แยกแยะว่าโจทก์คนใดมีหน้าที่เกี่ยวข้องและคนใดไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานในวันเกิดเหตุ แล้วนำไปวินิจฉัยโดยภาพรวมไม่แยกแยะว่าโจทก์คนใดมีหน้าที่หรือไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานตามแผนการผลิตว่าละทิ้งหน้าที่ไม่ไปปฏิบัติงานอันเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายนั้นถูกต้องและสมเหตุสมผลหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์บางคนซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานหยุดงานเข้าร่วมชุมนุมด้วยนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ดังกล่าวสามารถรู้สำนึกและคาดหมายถึงผลของการกระทำของตนกับพวกได้อย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลยและทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ดังนั้นแม้โจทก์บางคนจะไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานแต่ได้หยุดงานเข้าร่วมการชุมนุมด้วยย่อมต้องถือว่าโจทก์ทั้งหมดร่วมกันจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยโดยภาพรวมว่าโจทก์ทั้งที่สิบหกคนทั้งที่มีหน้าที่และไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิ้นงานตามแผนการผลิตได้ละทิ้งหน้าที่ไม่ไปปฏิบัติงานอันเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบหกได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) นั้นชอบแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสิบหกต่อไปว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสิบหกเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรงหรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน

Share