คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1648/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาผู้ปกครองผู้ตายซึ่งมีอายุ 19 ปีจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธหรือยกเป็นข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาผู้ปกครองผู้ตาย ข้อที่ว่าผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นโต้เถียงกัน
ผู้มีชื่อนำรถยนต์เข้ามาวิ่งร่วมในเส้นทางสัมปทานของบริษัทจำเลยที่ 2 โดยโอนกรรมสิทธิ์รถให้จำเลยที่ 2 ต้องพ่นสีและตีตราเป็นรถของจำเลยที่ 2 คนเก็บเงินค่าโดยสารต้องแต่งเครื่องแบบของจำเลยที่ 2 ถ้าประพฤติตนไม่ดี ผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 มีอำนาจพิจารณาลงโทษได้ ตั๋วที่จำหน่ายแก่ผู้โดยสารก็เป็นตั๋วของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าบริการเมื่อรถเข้าจอดเทียบสถานีของจำเลยที่ 2 เที่ยวละ 3 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่ารถยนต์ดังกล่าวเป็นรถของจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับเจ้าของรถมีรถยนต์ดังกล่าวเพื่อใช้ในกิจการหารายได้ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 คนขับรถปฏิบัติกิจการของจำเลยที่ 2 โดยมีสินจ้าง จำเลยที่ 2 จึงเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถชนบุตรโจทก์ในระหว่างขับรถขนส่งคนโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 2 (อ้างฎีกา ที่ 1576/2506)
ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นจะต้องพิจารณาตามความสมควร ตามความจำเป็น และตามฐานะของผู้ตายและบิดามารดา ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามลัทธินิยมประกอบด้วย และต้องไม่ใช่รายการที่ฟุ่มเฟือยเกินไป
การที่บุตรตายลงทำให้บิดาต้องขาดไร้อุปการะบิดาชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากการต้องขาดไร้อุปการะ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าปัจจุบันผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูบิดาหรือไม่ (อ้างฎีกาที่ 1742/2499)
ค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ค่าเสียหายในอนาคตซึ่งมีจำนวนกำหนดแน่นอน โจทก์สามารถบังคับได้ในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ปกครองนายพลศักดิ์ พรประภาอายุ 19 ปี อยู่บ้านเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถบรรทุกคนโดยสารประจำทางของบริษัทจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนนายพลศักดิ์ตายทำให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะ จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ

โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต

จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2แต่เป็นลูกจ้างของนายประชา โรจนพลาเสถียร ซึ่งนำรถเข้ามาวิ่งร่วมในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ประมาท โจทก์ฟ้องเคลือบคลุม นายพลศักดิ์ยังอยู่ในความอุปการะของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ขาดประโยชน์ ขาดแรงงาน จะเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าขาดแรงงานไม่ได้ แม้เรียกได้ก็มากเกินไป

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 และขับโดยประมาทชนนายพลศักดิ์ตาย จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 160,967 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าค่าปลงศพ 40,967บาท นั้นมากเกินไป พิพากษาแก้ ให้ใช้เพียง 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะนายพลศักดิ์ผู้ตายไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์นั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์เป็นบิดาผู้ปกครองนายพลศักดิ์ ผู้ตายอายุ 19 ปี และอยู่บ้านเรือนเดียวกัน จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธหรือต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาผู้ปกครองนายพลศักดิ์ผู้ตายข้อที่ว่านายพลศักดิ์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์หรือไม่จึงไม่มีประเด็นโต้เถียงกัน

ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 เห็นว่ารถที่จำเลยที่ 1 ขับชนผู้ตายเป็นรถซึ่งนายประชา โรจนพลาเสถียร นำเข้ามาวิ่งร่วมในเส้นทางสัมปทานของจำเลยที่ 2 โดยโอนกรรมสิทธิ์รถให้แก่จำเลยที่ 2 ต้องพ่นสีและตีตราเป็นรถของจำเลยที่ 2 คนขับรถ คนเก็บเงินค่าโดยสารต้องแต่งเครื่องแบบของจำเลยที่ 2 และถ้าประพฤติตนไม่ดี ผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 มีอำนาจพิจารณาลงโทษได้ ตั๋วที่จำหน่ายแก่ผู้โดยสารก็เป็นตั๋วของจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ได้ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าบริการเมื่อรถเข้าจอดสถานีของจำเลยที่ 2 เที่ยวละ 3 บาท พฤติการณ์ดังกล่าวนี้ชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการหารายได้ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยโดยมีสินจ้าง จำเลยที่ 2จึงเป็นนายจ้าง ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถชนบุตรโจทก์ในระหว่างขับรถขนส่งคนโดยสารในกิจการของจำเลยที่ 2ดังนัยฎีกาที่ 1756/2506

ที่จำเลยฎีกาว่า ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้มากเกินไป โจทก์ฎีกาว่าน้อยเกินไป เห็นว่าค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นนี้ต้องพิจารณาตามความสมควรตามความจำเป็น และตามฐานะของผู้ตายและบิดามารดา ทั้งต้องพิจารณาถึงประเพณีการทำศพตามประเพณีนิยมด้วย และต้องไม่ใช่รายการที่ฟุ่มเฟือยจนเกินไป ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เหมาะสมแล้ว

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะไม่ได้เห็นว่า การที่นายพลศักดิ์ตายลง ทำให้โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะจากผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 และ 1535 ทั้งนี้โดยมิต้องพิจารณาว่าปัจจุบันผู้ตายจะได้อุปการะเลี้ยงดูโจทก์ผู้เป็นบิดาอยู่หรือไม่ โจทก์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ต้องขาดไร้อุปการะนั้น ดังนัยฎีกาที่ 1742/2499 และค่าสินไหมทดแทนค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลกำหนดให้นั้น เป็นหนี้ค่าเสียหายในอนาคต มีกำหนดจำนวนแน่นอน ซึ่งโจทก์สามารถบังคับได้ในวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา จึงควรคิดดอกเบี้ยให้นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับ คือวันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จึงยังคลาดเคลื่อนอยู่

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะเรื่องดอกเบี้ยของเงินทดแทนค่าขาดไร้อุปการะ โดยให้จำเลยเสียนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share