คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ขอซื้อรถยนต์จากบริษัท ส.โดยมีข้อสัญญาไม่ให้โจทก์ที่ 1 จำหน่ายจ่ายโอนหรือให้ผู้อื่นครอบครองใช้รถยนต์คันนั้น ต่อมาโจทก์ที่ 1 ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 2 โดยบริษัท ส. ก็ทราบและไม่ถือเป็นเหตุเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 คงรับเงินค่างวดรถจากโจทก์ที่ 1 ตลอดมา เมื่อโจทก์ที่ 1 ขายรถให้โจทก์ที่ 2 แล้วก็ได้ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ที่ 2 ใช้ประโยชน์ในรถคันดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 รับโอนรถคันพิพาทมาโดยชอบ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดทำให้รถเสียหายได้
ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าทรัพย์พิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรสและจะสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1474 ก็ไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์พิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์หมายเลขทะเบียน อต.๐๔๗๔๕ โดยซื้อมาจากบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (๑๙๗๘) จำกัด โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุโดยทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียนปทุมวัน๘๐-๐๗๙๔ จำเลยที่ ๒ เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ วันเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๑ โดยประมาทชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน อต.๐๔๗๔๕ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ และบุคคลที่นั่งมาในรถยนต์อีก ๖ คนได้รับบาดเจ็บและโจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นเงิน ๒๘๐,๐๔๒ บาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าโจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถคันหมายเลขทะเบียน อต.๐๔๗๔๕ โจทก์ที่ ๒ ไม่มีสิทธิใด ๆ ในรถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน อต.๐๔๗๔๕ ฝ่ายเดียวและโจทก์เสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายมาเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๑๘๕,๖๐๕ บาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ และให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน ๙๕,๙๐๐ บาทให้แก่โจทก์ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาในประการแรกว่าสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตามเอกสารหมาย จ.๑ ที่โจทก์ที่ ๑ ทำไว้กับบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (๑๙๗๘) จำกัด ข้อ ๕ บังคับไม่ให้โจทก์ที่๑ จำหน่ายจ่ายโอนหรือให้ผู้อื่นครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ดังกล่าว โจทก์ที่ ๑ ขายรถให้โจทก์ที่ ๒ จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์ที่ ๒ ซื้อรถไว้ย่อมไม่มีสิทธิใดๆ และไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ที่ ๑ ขายรถคันดังกล่าวให้โจทก์ที่ ๒นั้น ทางบริษัทสุโขทัยฮกอันตึงฯ ก็ทราบดี โดยนายประกิจ มหาแถลงพยานโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทดังกล่าวเบิกความว่าหลังจากโจทก์ที่ ๑ ซื้อรถไปราว ๔ – ๕ เดือน ได้ทราบว่าโจทก์ที่ ๑ ขายรถให้โจทก์ที่ ๒ แต่ทางบริษัทไม่รับรู้ด้วย โจทก์ที่ ๑ ชำระเงินค่างวดรถดังกล่าวบางครั้งโจทก์ที่ ๒ ก็นำเงินมาชำระแทนโจทก์ที่ ๑ แสดงว่าแม้โจทก์ที่ ๑ จะมิได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ ๕ ดังกล่าวข้างต้น แต่ทางบริษัทฯ ก็มิได้ถือเป็นเหตุเลิกสัญญากับโจทก์ที่ ๑ ตามสัญญาข้อ ๙ แต่อย่างใด คงรับเงินค่างวดรถจากโจทก์ที่ ๑ ตลอดมา เมื่อโจทก์ที่ ๑ ขายรถให้โจทก์ที่ ๒ แล้ว ก็ได้ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์ที่ ๒ ใช้ประโยชน์ในรถคันดังกล่าว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ ๒ รับโอนรถคันหมายเลขทะเบียน อต.๐๔๗๔๕ มาโดยชอบ โจทก์ที่ ๒ จึงเป็นผู้เสียหาย มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๒ ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าทรัพย์พิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรส และจะสันนิษฐานว่าเป็นสินสมรสดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๗๔ ก็ไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนว่าโจทก์ที่ ๒ ได้จดทะเบียนสมรสหรือไม่ จึงยังฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ ๒ มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์ที่ ๒ มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share