คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16467/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 12 กำหนดขอบเขตไว้ชัดเจนว่า การใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้รวมถึงการใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไป – กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกจากบ้านพักที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อไปปฏิบัติราชการที่ศาลจังหวัดพัทยา จึงเป็นการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ตามระเบียบดังกล่าวแล้ว
จำเลยดูแลรักษารถยนต์และนำเข้าตรวจสภาพเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ อันเป็นการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ และก่อนเกิดเหตุจำเลยให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ไปตรวจสอบที่ศูนย์บริการแล้ว แต่ไม่พบความบกพร่อง รถยนต์สามารถใช้งานได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์มีสภาพไม่สมบูรณ์ และจำเลยขับรถโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม. ต่อ ชม. ซึ่งไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บนเส้นทางดังกล่าวไม่เกิน 120 กม. ต่อ ชม. การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เหตุเกิดจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถอันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 686,146.62 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 658,437.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผู้นั้นอยู่ในสังกัดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากเจ้าหน้าที่ให้นำบทบัญญัติมาตรา 8 มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้ามิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ” และมาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ดังนี้จึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งเดินทางไป – กลับระหว่างบ้านพักส่วนตัวของจำเลยกับสถานที่ปฏิบัติราชการเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามความในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง หรือไม่ สำหรับการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งนั้น ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2544 กำหนดว่า รถประจำตำแหน่งให้ใช้ในการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ หรือที่ได้รับมอบหมายโดยชอบ หรืองานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับงานในตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะที่ดำรงตำแหน่งนั้น รวมตลอดถึงการใช้เพื่อเดินทางไป – กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการ และเพื่อการอื่นที่จำเป็นและเหมาะสมแก่การดำรงตำแหน่งหน้าที่ในหมู่ข้าราชการและสังคม ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดขอบเขตการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งไว้ชัดเจนว่า การใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งในการปฏิบัติหน้าที่ราชการให้รวมถึงการใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไป – กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ประจำตำแหน่งออกจากบ้านพักที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อไปปฏิบัติราชการที่ศาลจังหวัดพัทยา จึงเป็นการปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ตามความในข้อ 12 ของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2544 ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยนำรถยนต์ประจำตำแหน่งไปใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไป – กลับ จากบ้านพักของจำเลยซึ่งอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ศาลจังหวัดพัทยาเป็นการใช้รถยนต์ของทางราชการเพื่อเดินทางไป – กลับระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการที่เกินจากความเหมาะสมหรือเกินกว่าความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่ราชการของจำเลย อีกทั้งยังไม่เป็นการเก็บรักษา ควบคุม หรือผู้รับผิดชอบรถประจำตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดพัทยาในการปฏิบัติราชการของจำเลยซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนั้นดังเช่นที่ระเบียบคณะกรรมการบริหารราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2544 ข้อ 12 และข้อ 22 ได้กำหนดไว้ นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยขับรถยนต์ประจำตำแหน่งจากที่พักส่วนตัวที่จังหวัดนนทบุรีเพื่อไปปฏิบัติงานที่ศาลจังหวัดพัทยา ซึ่งการใช้รถในลักษณะดังกล่าวมิใช่การใช้รถในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เป็นการใช้เพื่อเดินทางไป – กลับ ระหว่างที่พักและสถานที่ปฏิบัติราชการ ซึ่งกรมบัญชีกลางโดยได้รับมอบอำนาจจากกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่จำเลยขับรถออกจากที่พักเดินทางไปทำงานไม่ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเพียงการกำหนดสิทธิในการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2544 ข้อ 12 เท่านั้น ดังนี้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำให้รถยนต์ประจำตำแหน่งเสียหายโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ การที่นายเฉลิมชัยพยานโจทก์เบิกความว่า อุบัติเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยเนื่องจากขับรถด้วยความเร็วสูงจนไม่สามารถบังคับรถได้นั้นเป็นเพียงการคาดคะเนเอาจากสภาพความเสียหายของรถและร่องรอยที่พบในที่เกิดเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือมานำสืบสนับสนุนว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยจริงหรือไม่ ฝ่ายจำเลยนอกจากตัวจำเลยจะเบิกความยืนยันว่าเหตุเกิดจากปีกนกฉีกขาดทำให้จำเลยไม่สามารถควบคุมบังคับรถได้แล้ว จำเลยยังมีนายสุธรรม เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ขณะที่พยานขับรถตามหลังรถที่จำเลยขับโดยใช้ความเร็วประมาณ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พยานเห็นว่ารถคันดังกล่าวแล่นช้า เมื่อขับรถตามไปประมาณ 2 นาที กำลังมองหาช่องทางจะแซงรถคันดังกล่าว ก็เห็นรถคันดังกล่าวล้อหลังด้านซ้ายมีอาการแกว่งผิดปกติ พยานจึงห้ามล้อรถชะลอความเร็วและเห็นว่ารถคันดังกล่าวเสียการทรงตัว เฉออกไปด้านซ้ายจะชนรถคันอื่น มีการหักรถเพื่อให้มาทางด้านขวา รถจะตกร่องกลางถนน คนขับพยายามหักพวงมาลัยออกไปทางด้านซ้ายอีกครั้ง แล้วหักกลับด้านขวา จากนั้นรถก็พลิกคว่ำตกลงไปในร่องกลางถนน พยานจึงจอดรถและเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งมีนายชูศักดิ์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยเป็นลูกค้าเคยนำรถมาให้ซ่อมเครื่องยนต์และหม้อน้ำ หลังเกิดเหตุพยานได้รับโทรศัพท์จากจำเลยแจ้งว่าจำเลยประสบอุบัติเหตุรถที่ขับมีอาการส่ายควบคุมรถไม่ได้ พยานเดินทางไปเยี่ยมจำเลย จำเลยนำภาพถ่าย ให้พยานดู พบว่าบริเวณมุมล้อมีลักษณะสนิมเก่ากับบริเวณที่สนิมจางและบริเวณที่แตกหักใหม่ ซึ่งรอยแตกหักใหม่ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีสีแตกต่างจากรอยเดิมที่มีรอยสนิมกิน นอกจากนี้พยานไปตรวจสอบรถคันดังกล่าวพบว่ามีลักษณะเดียวกับภาพถ่าย จากประสบการณ์ของพยานเชื่อว่าอุบัติเหตุเกิดจากล้อหลังปีกนกฉีกขาดเป็นสาเหตุให้บังคับรถไม่ได้ เห็นว่า นายสุธรรมและนายชูศักดิ์เบิกความสอดคล้องต้องกันสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลย ไม่ปรากฏว่านายสุธรรมรู้จักจำเลยมาก่อน เป็นเพียงผู้มาประสบพบเหตุการณ์ดังกล่าวและเข้าช่วยเหลือจำเลย ส่วนนายชูศักดิ์เป็นช่างซ่อมรถที่จำเลยเคยนำรถไปให้ซ่อม พยานทั้งสองปากไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อช่วยเหลือหรือเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดโดยไม่มีมูลความจริง ประกอบกับพันตำรวจโทอนันต์ พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในชั้นสอบสวนนายสุธรรมให้การว่า นายสุธรรมขับรถตามหลังรถของจำเลย ก่อนถึงบริเวณที่เกิดเหตุรถของจำเลยมีอาการส่ายไปมา จากนั้นจึงพลิกคว่ำ โดยนายสุธรรมระบุว่ามีเหตุผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณล้อหลังด้านซ้าย และพันตำรวจโทอรรณนพ ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ สบ 3 กองกำกับการวิทยาเขต 13 ชลบุรี ผู้ตรวจสภาพรถยนต์คันเกิดเหตุ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ขณะตรวจดึงล้อหลังข้างซ้าย พบรอยฉีกขาดของปีกนก และมีสนิมเกาะอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง และมีรอยฉีกขาดใหม่ หากเกิดจากการฉีกขาดในคราวเดียวกัน สภาพของสนิมน่าจะเกิดขึ้นในลักษณะใกล้เคียงกัน และพยานปากนี้เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า จากการตรวจสภาพสนิมที่เกาะอยู่สามารถบ่งชี้ได้ว่า เกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน น่าจะมีการฉีกขาดอยู่ก่อนแล้ว ทำให้กลุ่มของสนิมไม่เท่ากัน อันเป็นการเจือสมคำเบิกความของพยานจำเลย ทำให้คำเบิกความของพยานจำเลยมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ความจากจำเลยด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 รถยนต์คันดังกล่าวมีเสียงดังบริเวณช่วงล่าง เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 จำเลยได้มอบให้นายต้นคนขับรถประจำศาลจังหวัดพัทยานำรถคันดังกล่าวไปตรวจบำรุงรักษาตามระยะทางพร้อมแจ้งอาการของรถให้ช่างของบริษัทพัทยา ฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด ทราบ ทางบริษัทดังกล่าวแจ้งว่าไม่สามารถหาสาเหตุของเสียงได้ รถสามารถใช้งานได้ ให้นำกลับไปใช้ จำเลยนำรถกลับมาใช้งานประมาณ 7 ถึง 10 วัน ก็ยังมีเสียงดังจึงให้นายต้นนำรถกลับไปตรวจเฉพาะช่วงล่างอีกครั้ง แต่บริษัทพัทยา ฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด ยังคงแจ้งว่าไม่พบสาเหตุที่มีเสียงดัง จำเลยจึงนำรถกลับมาใช้งานจนเกิดเหตุคดีนี้ ซึ่งนายรณรงค์ ช่างเทคนิคของบริษัทฮอนด้า ออโต้โมบิล (ประเทศไทย) จำกัด พยานโจทก์เบิกความเจือสมจำเลยว่า จากการตรวจสอบประวัติของรถคันดังกล่าวปรากฏว่ามีการนำเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฮอนด้าพัทยาอยู่เป็นประจำครั้งสุดท้ายเข้าตรวจเช็คเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 เป็นการตรวจสภาพเนื่องจากได้รับแจ้งว่าช่วงล่างของรถมีเสียงดัง แสดงให้เห็นว่าจำเลยเอาใจใส่ดูแลรักษารถยนต์คันเกิดเหตุและนำเข้าตรวจสภาพเมื่อรถเกิดอาการผิดปกติ อันเป็นการใช้รถยนต์ประจำตำแหน่งด้วยความระมัดระวังเช่นวิญญูชนพึงกระทำ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทราบอยู่ก่อนแล้วว่ารถยนต์ประจำตำแหน่งที่จำเลยขับมีสภาพไม่สมบูรณ์อาจจะเกิดอุบัติเหตุในการขับขี่ได้ แต่จำเลยกลับขับรถด้วยความเร็วสูงประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงเป็นการขับขี่ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังจนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยให้พนักงานขับรถนำรถยนต์คันเกิดเหตุไปตรวจสภาพแล้ว แต่พนักงานของบริษัทพัทยา ฮอนด้าคาร์ส์ จำกัด แจ้งว่าไม่พบความบกพร่อง รถยนต์สามารถใช้งานได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์มีสภาพไม่สมบูรณ์ และจำเลยขับรถโดยใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งไม่เกินอัตราความเร็วที่กฎหมายกำหนดให้ใช้บนเส้นทางดังกล่าวที่กำหนดให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่เหตุเกิดจากความชำรุดบกพร่องของตัวรถคันดังกล่าวอันเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่ 3 (โจทก์) ที่ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว และฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 นั้น เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง คำร้องของจำเลยจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share