คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1642/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีก่อน ส. เป็นโจทก์ฟ้องอธิบดีกรมที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดิน โดยขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ซึ่งต่อมาคู่ความในคดีดังกล่าวตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ส่วนคดีนี้โจทก์มาฟ้องจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดโดยอ้างเหตุผลเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกทับที่ดินของส. เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้ซื้อที่ดินพิพาทจาก ส. โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินพิพาทต่อจาก ส. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีก่อนอันเป็นการฟ้องอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบทกฎหมายดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 61 รายเดียวกันนั่นเองโจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่ความเดียวกันและต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ออกทับที่ดินของ ส. อีก อันเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อนซึ่งมีคำวินิจฉัยมาแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เดิมนายสุขและนางสงวน บรรจงทรัพย์ เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินมือเปล่า ต่อมาโจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีจึงทราบว่านางศิริ ตันสกุล ได้ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ทับที่ดินของนายสุขเป็นเนื้อที่ 17 ไร่เศษ ภายหลังโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ถูกแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยรวม35 แปลง เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 15791 ถึง 15825 โจทก์ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีดำเนินการสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 และโฉนดที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ซึ่งออกโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินเนื้อที่ 2 ไร่ 2 งานโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้จำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 และโฉนดที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 รวมทั้งโฉนดที่ดินเลขที่ 15807 ซึ่งออกทับที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนการแสดงเจตนา

จำเลยให้การว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของนางศิริ ตันสกุล ซึ่งมีหลักฐานการครอบครองเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้นางศิริโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ได้ซื้อที่ดินจากนายสุขและนางสงวน เนื่องจากนายสุขฟ้องอธิบดีกรมที่ดินต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 328/2515 และผู้จัดการมรดกของนางสงวนยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นตามคดีหมายเลขดำที่ 263/2535 ขอให้ศาลมีคำสั่งให้อธิบดีกรมที่ดินและจำเลยเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865, 15791 ถึง 15807 และ 15809 ถึง 15825 คู่ความในคดีหมายเลขดำที่ 328/2515 ของศาลชั้นต้น ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันศาลมีคำพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดตามคดีหมายเลขแดงที่ 40/2516 โจทก์เป็นผู้รับโอนที่ดินจากนายสุขและนางสงวนทายาทนายสุข ซึ่งเป็นผู้อาศัยสิทธิเรียกร้องของนายสุข จึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์เคยขอออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานไม่ดำเนินการให้ แต่โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีการร้องแบ่งสิทธิ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายไม่โต้แย้งกันรับฟังได้ว่า นางศิริ ตันสกุล นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 21 ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 16 ไร่ 2 งาน 72 ตารางวา ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการรังวัดที่ดินและออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865ตำบลทะเลชุบศร (ถนนใหญ่) อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ 16 ไร่ 1 งาน63 ตารางวา ให้แก่นางศิริเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2510 วันที่ 25 ตุลาคม 2510 นางศิริจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 15865 ให้แก่นายอำนวย ตันวัฒนะ กับพวกรวม 13 คนต่อมานายอำนวยกับพวกจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 15865 เป็นแปลงย่อยรวม 35 แปลง คือโฉนดที่ดินเลขที่ 15791 ถึง 15825 โดยโฉนดที่ดินเลขที่ 15807มีชื่อนายอำนวยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 15807ต่อมานายอำนวยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 15807 แก่ธนาคารทหารไทย จำกัดส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 15808 ซึ่งมีชื่อนายอำนวยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อีกแปลงหนึ่งนายอำนวยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่นางเปี่ยมศรี ตันวัฒนะ ภริยา ที่ดินแปลงนี้มีนายสุข บรรจงทรัพย์ ครอบครองโดยปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยมานานกว่า 10 ปี นางเปี่ยมศรี เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายสุขออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15808 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1382/2518 ซึ่งวินิจฉัยว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 15808 ออกทับที่ดินของนายสุข ให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15808 ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวนายสุขเป็นโจทก์ฟ้องนายอำนวย นางเปี่ยมศรี นางศิริ อธิบดีกรมที่ดิน และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีต่อศาลชั้นต้น ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ปรากฏว่าคู่ความในคดีดังกล่าวตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยนายอำนวย นางเปี่ยมศรี และนางศิริ ยอมจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาท และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15808 เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน ให้แก่นายสุข และนายสุขไม่ติดใจเรียกร้องสิ่งใดจากฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คดีถึงที่สุด วันที่ 30 กันยายน 2517 นายสุขฟ้องร้อยโทณรงค์ ส้มกลิ่น ผู้รับมอบอำนาจจากนายสุข นายอำนวย นางเปี่ยมศรี และนางศิริ ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1017/2520 ให้ยกฟ้องเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 15808 เจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินออกขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลชั้นต้น นายสว่าง อักษรศรี เป็นผู้ประมูลได้ โจทก์และนายชวน คงเดช ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 15807 ขณะเดียวกันนายสว่างขับไล่โจทก์และนายชวนออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 15807 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6833 – 6835/2537 ซึ่งวินิจฉัยว่า นายสว่างเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 15807 เมื่อนางสงวนถึงแก่ความตาย นางวิชชุดา ศรีเปาวยะ หรืออินทร์สุวรรณโณผู้จัดการมรดกนางสงวนเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 และโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ทุกแปลงอ้างว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 263/2535 คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8091/2538 ซึ่งวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ในคดีดังกล่าวเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 และโฉนดที่ดินทุกแปลงที่แบ่งแยกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 โดยเฉพาะโฉนดที่ดินเลขที่ 15807 อ้างว่าการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกทับที่ดินของนายสุข โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุขและนางสงวนทายาทผู้รับมรดกของนายสุข ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเคยมีกรณีฟ้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ตำบลทะเลชุบศร (ถนนใหญ่) อำเภอเมืองลพบุรีจังหวัดลพบุรี มาแล้วคือ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น และโจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 15865 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะออกทับที่ดินของนายสุข โจทก์ฟ้องคดีนี้ในฐานะผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสุขและนางสงวน โจทก์จึงเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินพิพาทต่อจากนายสุขโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้น และคดีดังกล่าวนายสุขฟ้องอธิบดีกรมที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 แม้ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทกฎหมายดังกล่าว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 รายเดียวกันนั่นเอง จึงถือว่าโจทก์และจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันและต้องผูกพันตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เช่นกัน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินโดยอ้างเหตุว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 15865ออกทับที่ดินของนายสุขอีก อันเป็นเหตุอย่างเดียวกัน ซึ่งคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 40/2516 ของศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้ว จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share