แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า ความเสียหายเกิดจากลักษณะและน้ำหนักของสินค้า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ความเสียหายเกิดจากสินค้ามีน้ำหนักไม่สมดุลและเหวี่ยงตัวเองในขณะแขวนอยู่ในลวดสลิง จึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ แม้ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ ก็ไม่ถือว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 4 มีวิชาชีพเฉพาะในการขนถ่ายสินค้าเพื่อขนส่ง หากพนักงานของจำเลยที่ 4 เห็นว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 ไม่เหมาะที่จะใช้บรรทุกสินค้าแล้วต้องปฏิเสธไม่ให้ใช้รถดังกล่าว จะอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมให้ขนถ่ายสินค้ามิได้เพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีความชำนาญการในการขนถ่ายสินค้าเช่นพนักงานของจำเลยที่ 4 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 4 ทราบอยู่แล้วว่าการขนถ่ายสินค้าไม่น่าจะดำเนินการได้โดยปลอดภัย แต่ก็ยินยอมขนถ่ายสินค้าให้จนเกิดความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 1,999,280.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,880,281.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 1,519,382.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าประเภทเครื่องจักรและอุปกรณ์เกี่ยวกับการติดตั้งประกอบในโรงงานรีดเหล็กร้อนของบริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) และคุ้มครองสินค้าที่ขนส่งจากเมืองท่าต่าง ๆ ทั่วโลก จนถึงสถานที่ติดตั้งเครื่องจักรซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมชลบุรี ตำบลบ่อวิน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งคุ้มครองการส่งสินค้าไปซ่อมแซมยังต่างประเทศ วงเงิน 250,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากสินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่ง ตามสำเนากรมธรรม์เปิดทางทะเล โจทก์ออกกรมธรรม์ย่อยประกันภัยสินค้าให้แก่บริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) ผู้เอาประกันภัยในวงเงิน 1,030,719.61 ดอลลาร์สหรัฐ บวกอีกร้อยละ 15 คิดเป็นเงิน 30,842,222.85 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2540 ระหว่างอายุสัญญาประกันภัยบริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งสินค้าส่วนประกอบหัวรถเครนไฟฟ้าจากท่าเรือขึ้นรถบรรทุกเพื่อนำไปที่โรงงานของบริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 จัดรถบรรทุกไปรับสินค้าที่ท่าเรือเพื่อขนส่ง จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 4 ประกอบกิจการท่าเรือรับขนถ่ายสินค้าและเป็นผู้ขนสินค้าขึ้นรถบรรทุกที่จำเลยที่ 2 จัดหามา ระหว่างการขนย้ายสินค้าดังกล่าวขึ้นรถบรรทุกปรากฏว่าสินค้าแกว่งตัวกระแทกอุปกรณ์อื่นที่วางอยู่บนพื้นเป็นเหตุให้สินค้าที่เป็นโครงรถเครนไฟฟ้าได้รับความเสียหาย โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 1,880,281.98 บาท ให้แก่บริษัทนครไทยสตริปมิล จำกัด (มหาชน) แล้วรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 4 มีวิชาชีพเฉพาะในการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือขึ้นรถบรรทุกเพื่อขนส่ง หากพนักงานของจำเลยที่ 4 เห็นว่ารถบรรทุกของจำเลยที่ 2 มีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้บรรทุกสินค้า จำเลยที่ 4 จะต้องปฏิเสธมิให้ใช้รถดังกล่าวมาบรรทุกสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในความรับผิดชอบของตน จำเลยที่ 4 จะอ้างว่าพนักงานของจำเลยที่ 1 ยืนยันให้ขนถ่ายสินค้ามิได้ เพราะพนักงานของจำเลยที่ 1 มิได้มีความชำนาญการขนถ่ายสินค้าเช่นพนักงานของจำเลยที่ 4 ที่จะเล็งเห็นถึงความเสียหายจากการขนถ่ายสินค้าได้ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ได้จากคำเบิกความของเรือโทเอกชัย ผู้ช่วยผู้จัดการของจำเลยที่ 4 ซึ่งควบคุมการขนถ่ายสินค้าอยู่ด้วยว่า รถที่มารับสินค้าจะบรรทุกสินค้าตามฟ้องไปไม่ได้ เพราะเป็นรถบรรทุกสิบล้อที่ใช้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งไม่เหมาะสมกับสินค้า รถที่จะใช้บรรทุกสินค้าตามฟ้องได้ต้องใช้รถบรรทุกชนิดทรงเตี้ยและมีล้อรองรับน้ำหนักบรรทุกมากกว่าสิบล้อ เพื่อไม่ให้น้ำหนักของสินค้ารวมศูนย์และให้กระจายน้ำหนักไปตามวัตถุที่รองรับ แต่ตัวแทนเจ้าของสินค้ายืนยันว่าจะบรรทุกสินค้าไป พยานจึงสั่งให้พนักงานของจำเลยที่ 4 ใช้เครนยกสินค้าใส่รถบรรทุก เมื่อหย่อนสินค้าลงแตะตัวถังรถ รถยุบตัวลง พยานจึงสั่งให้ผู้ควบคุมเครนหยุดการหย่อนสินค้าและยกขึ้นใหม่ และปรับตำแหน่งในการรับสินค้าใหม่ แล้วจึงหย่อนสินค้าลงอีกครั้งจนกระทั่งเกิดความเสียหายขึ้น แสดงให้เห็นว่า พนักงานของจำเลยที่ 4 ทราบอยู่แล้วว่าการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวไม่น่าจะดำเนินการได้โดยปลอดภัย แต่พนักงานของจำเลยที่ 4 ยังยินยอมขนถ่ายสินค้าให้ เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 4 กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งจำเลยที่ 4 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นนี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ที่ว่า ค่าเสียหายของโจทก์สูงเกินไปหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหานี้ไว้โดยละเอียด ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยไม่จำต้องวินิจฉัยซ้ำอีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ