คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1636/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมมีข้อความสำคัญว่า ‘ฯลฯ ข้อ 1 เมื่อข้าพเจ้าถึงแก่ความตาย บรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และที่จะพึงมีต่อไปภายหน้าข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมฉบับนี้ ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 2. ที่ดินตามโฉนดเลขที่10197……ตั้งอยู่ตำบลวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานครพร้อมกับสิ่งปลูกสร้างข้าพเจ้าขอยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ ส.(โจทก์) แต่ผู้เดียว ข้อ 3. ข้าพเจ้าขอแต่งตั้งให้ ส.(โจทก์)เป็นผู้จัดการมรดกของข้าพเจ้าตามพินัยกรรมฉบับนี้และให้เป็นผู้จัดการศพของข้าพเจ้าด้วย’ ข้อความในพินัยกรรมข้อ 1. หมายความว่า เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตายแล้วให้บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่นั้นตกเป็นของโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้รับพินัยกรรมแต่ผู้เดียว รวมทั้งทรัพย์สินตามที่ได้กล่าวไว้ในพินัยกรรมข้อ 2ด้วย ดังนั้นที่ดินมรดกจึงตกเป็นของโจทก์ตามพินัยกรรม
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นอ้างเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ ประเด็นอายุความจึงมิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์และเป็นอันยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นอ้างหรือโต้แย้งในชั้นฎีกาไม่ได้
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าหากโอนที่ดินไม่ได้ ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกาจำเลยได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้แก่ผู้อื่นไปแล้ว ฉะนั้น หากจำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ไม่ได้ ก็ไม่อาจนำที่ดินนี้ออกขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดไว้นั้นได้ จึงพิพากษาแก้ให้จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกหากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เป็นจำนวน500,000 บาท ตามส่วนของราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ย.

Share