แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยรับจ้างซ่อมรถไถของโจทก์ รถอยู่กับจำเลยที่อู่ราว 1 ปี ถือได้ว่าโจทก์มอบหมายให้จำเลยครอบครองรถและเสื้อสูบของโจทก์ จำเลยเปลี่ยนเอาเสื้อสูบเก่าใส่แทนเสื้อสูบใหม่ของโจทก์เป็นยักยอกไม่ใช่ลักทรัพย์ดังฟ้อง ศาลยกฟ้อง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 334 จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าโจทก์จ้างจำเลยซ่อมรถไถของโจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้ซื้ออะไหล่นำไปให้จำเลยซ่อมที่อู่ซ่อมรถของจำเลยใช้เวลาซ่อมราว 1 ปี เสร็จ โจทก์เบิกความว่าเสื้อสูบที่โจทก์ซื้อมาให้จำเลยเปลี่ยนเป็นของใหม่นายประเสริฐ จาตุรงค์โชค เบิกความประกอบคำเบิกความของโจทก์ และโจทก์มีเอกสารหมาย จ.1, จ.2, จ.3เป็นหลักฐาน ทั้งนายณรงค์ รัตน์จันทร์ เบิกความว่า เสื้อสูบในเครื่องยนต์เป็นของเก่ามีรอยเชื่อม จำเลยเบิกความรับตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า เสื้อสูบที่โจทก์นำมาให้เปลี่ยนเป็นของใหม่ ปรากฏว่าเสื้อสูบที่จำเลยใส่ไว้เป็นของเก่า จำเลยก็รับต่อตำรวจว่าเป็นเสื้อสูบที่ใส่ไว้ไม่รู้ว่าทำไมมีรอยเชื่อม ข้ออ้างของจำเลยไม่มีเหตุผล จึงฟังได้ว่าจำเลยรับเอาเสื้อสูบของใหม่ไว้จากโจทก์แล้วจำเลยเปลี่ยนเอาเสื้อสูบของเก่ามีรอยเชื่อมใส่ไว้ในเครื่องยนต์รถไถของโจทก์จริง แต่เห็นว่าเสื้อสูบที่โจทก์มอบให้จำเลย ได้อยู่กับจำเลยมานานราว1 ปี ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยยึดถือครอบครองทรัพย์นั้นไว้ การยึดถือครอบครองทรัพย์จึงอยู่ที่จำเลย มิใช่อยู่ที่โจทก์ ดังนั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองเสื้อสูบการกระทำของจำเลยที่เปลี่ยนเสื้อสูบโดยเอาเสื้อสูบของใหม่ไปเสีย แล้วเอาเสื้อสูบของเก่าใส่ไว้นั้น เป็นความผิดฐานยักยอก โดยนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2610/2519 คดีระหว่างพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดแม่สอดโจทก์ นายลี สายทองกับพวก จำเลย คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษเทียบตามคำพิพากษาฎีกาที่ 370/2521 คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดบุรีรัมย์ โจทก์ นางพรม สัตตรัมย์ จำเลย”
พิพากษายืน