คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามร่วมกันฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 แต่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของ ม. บิดาโจทก์ที่ 1 เมื่อ ม. ถึงแก่ความตายที่ดินเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 1 แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่ 93 ตารางวา ราคาประมาณ 45,000 บาท โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 2 และส่วนที่ 3 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามขอออกโฉนดที่ดินแต่ละส่วนของแต่ละคน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามส่วนที่แต่ละคนขอรังวัดออกโฉนด อันเป็นการที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามมาตรา 55 การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน
โจทก์ทั้งสามฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 และให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไปเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้าย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า นายมามะ บิดาโจทก์ที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามหลักฐานใบแจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินเลขที่ 76 หมู่ที่ 4 ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยถางป่า ทำนาเกลือ ปลูกมะพร้าวและเลี้ยงกุ้งเมื่อปี 2540 นายมามะถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้รับมรดกต่อมา ปี 2543 โจทก์ที่ 1 แบ่งที่ดินออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่ 93 ตารางวา ราคาประมาณ 45,000 บาท โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 2 และส่วนที่ 3 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 3 ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามขอออกโฉนดที่ดินแต่ละส่วนของแต่ละคน ตามใบไต่สวน หน้าสำรวจ 3656, 3657 และ 3658 ตามลำดับ ตามสำเนาใบไต่สวน (น.ส.5) เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยทั้งสี่ได้ยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยทั้งสี่มีสิทธิครอบครองทำให้เจ้าพนักงานที่ดินยกเลิกการออกโฉนดที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสามตามส่วน ห้ามจำเลยทั้งสี่กระทำการใดอันเป็นการขัดสิทธิของโจทก์ทั้งสามตามส่วน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เดิมที่ดินพิพาทตั้งอยู่หมู่ที่ 4 แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ตามลำดับ มีนายสอเหาะครอบครองทำประโยชน์โดยทำนา ปลูกมะพร้าวและปลูกบ้านอยู่อาศัย ต่อมาปี 2485 นายสอเหาะถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของนายสาแม บิดาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และนายมามะ บิดาจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 นายสาแมและนายมามะเข้าครอบครองทำประโยชน์เป็นสัดส่วนจนกระทั่งนายสาแมและนายมามะถึงแก่ความตายจำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองทำประโยชน์ ตามสัดส่วนของแต่ละคน ต่อมามีน้ำทะเลท่วมในที่ดินพิพาททำให้มะพร้าวที่นายสะแมและนายมามะปลูกตายเกือบทั้งหมดและที่ดินเป็นดินเค็มและดินเปรี้ยว จำเลยทั้งสี่จึงปักเสาคอนกรีตและกั้นรั้วลวดหนามเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์โจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ทั้งสามใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางแมะนะ ทายาทของจำเลยที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งบุคคลผู้ถูกเรียกเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสาม ให้คืนค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามชอบหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามเข้าครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทร่วมกันโดยไม่สามารถแบ่งแยกการครอบครองเป็นสัดส่วนจึงสามารถถือราคาที่ดินรวมกันได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคา 125,000 บาท คดีโจทก์ทั้งสามจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสามร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสามมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา โจทก์ที่ 1 อ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายมามะ บิดาโจทก์ที่ 1 เมื่อนายมามะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ที่ 1 เมื่อปี 2543 โจทก์ที่ 1 แบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่ 1 เนื้อที่ 9 ไร่ 93 ตารางวา ราคาประมาณ 45,000 บาท โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ ส่วนที่ 2 เนื้อที่ 7 ไร่ 2 งาน 53 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 2 และส่วนที่ 3 เนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน 39 ตารางวา ราคาประมาณ 40,000 บาท โจทก์ที่ 1 โอนสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ที่ 3 ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 หลังจากนั้นโจทก์ทั้งสามขอออกโฉนดที่ดินแต่ละส่วนของแต่ละคน ตามใบไต่สวน หน้าสำรวจ 3656,3657 และ 3658 ตามลำดับ ตามสำเนาใบไต่สวน (น.ส.5) เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามส่วนที่แต่ละคนขอรังวัดออกโฉนด อันเป็นการที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 การพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน โจทก์ทั้งสามจะถือราคาที่ดินทั้งแปลงเป็นทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 50,000 บาท และโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อจากนายมามะบิดาโจทก์ที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากนายมามะ โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ทั้งสามฎีกาเฉพาะเพียงขอให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 และให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไปเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสามเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามา 3,125 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เกินให้แก่โจทก์ทั้งสาม”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share