คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถพ่วงบรรทุกตู้สินค้าตกรางทำให้ตู้บรรจุสินค้าเลื่อนไหลไปกระแทกกับตู้บรรจุสินค้าที่อยู่ด้านหน้าอันเป็นผลให้ม้วนกระดาษพิมพ์เขียนของโจทก์ที่อยู่ในตู้บรรจุสินค้าได้รับความเสียหาย เกิดจากการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แม้ตู้บรรจุสินค้าไม่ได้ตกจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้ามากระแทกพื้น ก็มิใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิด
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติว่า “การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม… ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้นๆ” แต่พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา 50 และมาตรา 51 ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยเฉพาะความรับผิดทางสัญญาไม่รวมถึงกรณีละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด จำเลยจะยกกฎหมายดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้าไว้กับจำเลย โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 โจทก์ได้มอบให้จำเลยขนส่งตู้บรรจุสินค้า 22 ตู้ ของบริษัทเอเวอร์กรีน มารีน คอร์ปอเรชั่น (ไต้หวัน) จำกัด โดยรถไฟของจำเลยจากลานบรรจุสินค้าลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี แต่จำเลยปล่อยปละละเลยไม่เอาใจใส่ซ่อมบำรุงหรือตรวจสภาพรางรถไฟให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี อันเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยจนเป็นเหตุให้พนักงานผู้ควบคุมขบวนรถไฟของจำเลย ซึ่งขับรถไฟด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูงเกินกว่าที่รางรถไฟจะรับน้ำหนักและความเร็วของขบวนรถได้ เป็นเหตุให้ตู้บรรจุสินค้าหมายเลข อีเอ็มซียู 2431318 ที่บรรทุกอยู่บนขบวนรถไฟเลื่อนไหลตกรางกระแทกพื้น ทำให้ม้วนกระดาษพิมพ์เขียนซึ่งเก็บอยู่ภายในตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายจากแรงอัดกระแทกไม่สามารถส่งไปจำหน่ายต่างประเทศได้ หลังเกิดเหตุ โจทก์ได้จ่ายค่าเสียหายให้แก่เจ้าของสินค้าไปเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2542 เป็นเงิน 920,000 บาท และรับเอาซากสินค้านำออกประมูลขายได้เงิน 371,163.25 บาท ต้องเสียหายเป็นเงิน 548,836.75 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มกราคม 2542 เป็นต้นไป โดยดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,427.19 บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 570,263.94 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 570,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 548,836.75 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่อาจรับช่วงสิทธิในความเสียหายที่เกิดขึ้น รถตู้สินค้าตกรางคันเดียวอันเกิดจากเหตุสุดวิสัย มิใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลย ทั้งตู้บรรจุสินค้าหมายเลข อีเอ็มซียู 2431318 หาได้ตกจากรถตู้สินค้าแต่อย่างใดไม่ ความเสียหายของสินค้าอาจเกิดจากการขนส่งทางรถยนต์ก่อนแล้ว โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้า ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 570,263.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 548,836.75 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 พนักงานของจำเลยขับรถไฟลากจูงรถพ่วงบรรทุกรถตู้สินค้าที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยขนส่งจำนวน 22 ตู้ จากลานบรรจุสินค้าลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เมื่อขบวนรถไฟแล่นถึงบริเวณสถานีรถไฟหัวตะเข้ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้เกิดเหตุรถพ่วง 1 คัน ที่บรรทุกตู้บรรจุสินค้าหมายเลข อีเอ็มซียู 2431318 ตกราง อันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย ที่มิได้ซ่อมบำรุงรางรถไฟให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง และม้วนกระดาษพิมพ์เขียนที่อยู่ในตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหาย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ความเสียหายของม้วนกระดาษพิมพ์เขียนเกิดจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวตกรางหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ความเสียหายของม้วนกระดาษพิมพ์เขียนไม่ได้เกิดจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวตกราง แต่ความเสียหายอาจเกิดก่อนที่จะมีการส่งมอบตู้บรรจุสินค้าให้แก่จำเลย เพราะตู้บรรจุสินค้าไม่ได้ตกจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้ามากระแทกพื้นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่า โจทก์มีนายบรรพต ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยที่ลานบรรจุสินค้าโดยมีพนักงานของจำเลยมาร่วมตรวจสอบ สินค้าที่อยู่ในตู้บรรจุสินค้าเป็นกระดาษพิมพ์เขียนซึ่งบริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด เป็นผู้บรรจุไว้ในตู้บรรจุสินค้าเรียบร้อยแล้ว การที่รถไฟตกรางทำให้ตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวเลื่อนไหลไปกระแทกกับตู้บรรจุสินค้าที่อยู่ด้านหน้าเป็นเหตุให้ม้วนกระดาษพิมพ์เขียนบุบเสียรูปทรง มีรอยขีดข่วน ไม่สามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ และโจทก์ยังมีนายกิตติโชติ พนักงานตรวจสอบสภาพสินค้าของบริษัทอินดิเพ็นเด๊นท์ มารีนคอน ซัลแท็นส์แอนด์เซอร์เวเยอร์ จำกัด ซึ่งร่วมสำรวจความเสียหายกับตัวแทนฝ่ายจำเลยและตัวแทนเจ้าของสินค้าเบิกความยืนยันว่า ม้วนกระดาษที่ขนส่งไปได้รับความเสียหายทุกม้วนเนื่องจากได้รับการกระแทก ซึ่งฝ่ายจำเลยก็มิได้นำสืบหักล้างความข้อนี้ คงกล่าวอ้างลอยๆ ว่า ความเสียหายของม้วนกระดาษพิมพ์เขียน อาจเกิดก่อนที่จะมีการส่งมอบให้แก่จำเลย แต่จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย เชื่อว่า เหตุที่รถพ่วงบรรทุกตู้สินค้าตกรางทำให้ตู้บรรจุสินค้าเลื่อนไหลไปกระแทกกับตู้บรรจุสินค้าที่อยู่ด้านหน้าอันเป็นผลให้ม้วนกระดาษพิมพ์เขียนที่อยู่ในตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงฟังได้ว่า ความเสียหายของม้วนกระดาษพิมพ์เขียนเกิดจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้าดังกล่าวตกรางจำเลยเป็นผู้ประมาทเลินเล่อ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แม้ตู้บรรทุกสินค้าไม่ได้ตกจากรถพ่วงบรรทุกตู้บรรจุสินค้ามากระแทกพื้นดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ก็หาใช่ข้อสาระสำคัญที่จะทำให้จำเลยหลุดพ้นความรับผิดไม่
ส่วนปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายเรื่องค่าเสียหาย จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้า ตามพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย และค่าเสียหายสูงเกินความเป็นจริงนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 609 บัญญัติว่า “การรับขนของหรือคนโดยสารในหน้าที่ของกรมรถไฟหลวงแห่งกรุงสยาม… ท่านให้บังคับตามกฎหมายและกฎข้อบังคับสำหรับทบวงการนั้นๆ” ส่วนพระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 มาตรา 50 บัญญัติว่า “ข้อที่กรมรถไฟแผ่นดินจะต้องรับผิดชอบในการที่ผู้โดยสารต้องบาดเจ็บเสียหายก็ดี ฤาว่าครุภาระ ห่อวัตถุ ฤาสินค้า ซึ่งรับบรรทุกนั้นแตกหักสูญหายก็ดี… ท่านให้ใช้บังคับตามพระราชกำหนดกฎหมายส่วนแพ่งว่าด้วยการบรรทุกส่ง เว้นไว้แต่จะต้องด้วยบทมาตราดังจะกล่าวต่อไปในพระราชบัญญัตินี้ จึงให้ใช้บทมาตรานั้นๆ บังคับ” มาตรา 51 บัญญัติว่า “กรมรถไฟแผ่นดินไม่ต้องรับผิดชอบในการที่ครุภาระ ห่อวัตถุ ฤาสินค้าที่บรรทุกส่งไปฤามอบฝากไว้กับรถไฟนั้นแตกหักบุบสลาย… เว้นไว้แต่พนักงานรถไฟจะได้รับของนั้นลงบัญชีประกันและได้ออกใบรับให้ไปเป็นสำคัญ” แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้ความคุ้มครองแก่จำเลยเฉพาะความรับผิดทางสัญญาไม่รวมถึงกรณีละเมิด เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดฐานละเมิด จำเลยจะยกกฎหมายดังกล่าวมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ประกันค่าระวางสินค้าก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ และโจทก์นำสืบได้ว่า ม้วนกระดาษพิมพ์เขียนได้รับความเสียหาย บุบเสียรูปทรง มีรอยขีดข่วน ไม่สามารถส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้โจทก์ได้ชำระค่าม้วนกระดาษพิมพ์เขียนดังกล่าวให้แก่บริษัทผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด เจ้าของสินค้าไป 920,000 บาท ตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.5 แล้วรับเอาสินค้าดังกล่าวออกประมูลขายซากสินค้าได้เงิน 371,163.75 บาท ตามสำเนาเช็คเอกสารหมาย จ.13 โจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนที่ขาดอีก 548,836.75 บาท ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างความข้อนี้แต่ประการใด คงกล่าวอ้างลอยๆ ว่า สินค้าดังกล่าวน่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 548,836.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามที่โจทก์ฟ้อง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง จำนวน 570,263.94 บาท ซึ่งเป็นทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 14,257.50 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มา 27,977.50 บาท เกินมา 13,720 บาท โดยศาลอุทธรณ์มิได้สั่งคืน ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งคืนแก่จำเลย”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่ชำระเกินมาจำนวน 13,720 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share