คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1635/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 – 2 ออกโฉนดทับที่ซึ่งโจทก์ครอบครองอยู่ก่อน การออกโฉนดทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 – 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 3 – 4 รับจำนองที่พิพาทโดยไม่สุจริตต่อมาจำเลยที่ 3 – 4 ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล ย่อมเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ 3 โอนทะเบียนยกที่พิพาทให้จำเลยที่ 5 – 6 โดยเสน่หา โจทก์ย่อมขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมได้
การที่จำเลยขอให้ออกและรับโฉนดที่พิพาทโดยโจทก์ไม่รู้ และการที่จำเลยฟ้องขับไล่โจทก์จากที่พิพาท ไม่ใช่การแย่งการครอบครองที่พิพาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเป็นเจ้าของและครอบครองที่พิพาท จำเลยที่ ๑ – ๒ แสดงความเท็จต่อเจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินจึงออกโฉนดสำหรับที่พิพาทให้จำเลยที่ ๑ – ๒ ต่อมาจำเลยที่ ๓ – ๔ รับจำนองที่พิพาทจากจำเลยที่ ๑ โดยไม่สุจริต แล้วฟ้องบังคับจำนอง และจำเลยที่ ๓ ซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลแล้วยกให้จำเลยที่ ๕ – ๖ ซึ่งเป็นบุตร ขอให้ศาลแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ การออกโฉนดทับที่ดินของโจทก์ ทั้งขอให้ทำลายนิติกรรมทั้งหมดเสียด้วย
จำเลยทั้งหมดต่อสู้ว่า การออกโฉนดสมบูรณ์ และนิติกรรมต่าง ๆ ก็สมบูรณ์จำเลยสุจริต โจทก์รู้เรื่องออกโฉนดมานานแล้ว คดีขาดอายุความ ๑ ปี
ศาลชั้นต้นฟังว่า โจทก์ครอบครองที่พิพาทมาก่อน จำเลยที่ ๑ – ๒ ออกโฉนดทับที่พิพาท และจำเลยทำนิติกรรมต่าง ๆ โดยไม่สุจริต พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑, ๓ ถึง ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกับศาลชั้นต้น แล้ววินิจฉัยว่าการออกโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๑ – ๒ ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยที่ ๓ – ๔ รับจำนองโดยไม่สุจริต และได้ฟ้องบังคับจำนองและซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาล จึงเป็นการซื้อโดยไม่สุจริต ต่อมาจำเลยที่ ๓ ยกที่พิพาทให้จำเลยที่ ๕ – ๖ โดยเสน่หา จำเลยที่ ๕ – ๖ ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ขอให้เพิกถอนนิติกรรมให้ได้
การที่จำเลยขอออกและรับโฉนดที่พิพาทโดยโจทก์ไม่รู้และการที่จำเลยที่ ๕ – ๖ ฟ้องขับไล่โจทก์จากที่พิพาท ถือไม่ได้ว่าเป็นการแย่งการครอบครองที่พิพาท ฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ๑ ปี

Share