แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฎีกาว่า เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าและจำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ สัญญาซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้า แบ่งการทำงานและการชำระเงินเป็น 6 งวด แต่เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์นั้น เป็นการรับไปตามสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า ข้อ 1 และสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานติดตั้งระบบไฟฟ้างวดที่ 1 ซึ่งเงินงวดนี้ไม่ได้ระบุถึงเนื้องานว่าจำเลยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเพียงใด ซึ่งต่างจากการดำเนินการในงวดงานที่ 2 ถึงงวดที่ 6 เพียงแต่มีข้อความว่าชำระเงินจำนวนร้อยละ 10 ของราคาวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงทั้งหมด ในวันเซ็นสัญญาหรือเมื่อผู้ซื้อออกหนังสือสัญญาว่าจะจ้างให้แก่ผู้ขาย และผู้ขายจะนำหนังสือค้ำประกันธนาคารจำนวนเงินเท่ากันมาเป็นหลักค้ำประกัน อันเป็นการสอดคล้องกับเนื้อความในข้อสัญญาที่ว่าโจทก์ได้จ่ายให้แก่จำเลยในวันลงนามสัญญา เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวโจทก์จ่ายให้แก่จำเลยในวันเริ่มลงนามสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลการดำเนินงานที่จำเลยรับจ้างทำงานให้แก่โจทก์ เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์จึงเป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้า
ตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน งวดที่ 2 จำเลยจะต้องดำเนินการสกัดแนวท่อ ฝังบล็อก วางท่อ ร้อยสายไฟฟ้า ต่อสาย ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ พร้อมทั้งปิดฝากล่องเชื่อมสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งจะต้องจัดทำระบบสายใต้ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 90 ของงาน จำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานโจทก์ จึงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบงานและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญางวดที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองจำต้องให้ฝ่ายโจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์
สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ประกอบการงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 2 ปี หาใช่เรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดลงในวันนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดดังกล่าว เมื่อคิดถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ เตือนเพลิงไหม้ เสียงและระบบโทรทัศน์ ในโรงพยาบาลปศุสัตว์และโรงพยาบาลสัตว์เล็กซึ่งโจทก์รับเหมาก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายจัดหาวัสดุอุปกรณ์และแรงงานทั้งหมด มีการทำสัญญาเป็น 2 ฉบับ ฉบับแรกโจทก์ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า โทรศัพท์ เตือนเพลิงไหม้ เสียง และโทรทัศน์กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,885,000 บาท ฉบับที่สองโจทก์ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน งานติดตั้งระบบไฟฟ้า โทรศัพท์ เตือนเพลิงไหม้ เสียง และระบบโทรทัศน์ หน่วยงานโรงพยาบาลปศุสัตว์ อาคารเอ็น อาคารเอ็ม และอาคารโอ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานโรงพยาบาลสัตว์เล็ก ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเงิน 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 6,885,000 บาท ซึ่งในสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งงวดการทำงานกับแบ่งการชำระค่าจ้างและค่าวัสดุอุปกรณ์รวม 6 งวด โดยจำเลยทั้งสองจะทำงานตามสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2541 ภายหลังทำสัญญาโจทก์ตกลงให้จำเลยทั้งสองเริ่มงานในอาคารเอ็มของโรงพยาบาลปศุสัตว์และอาคารโรงพยาบาลสัตว์เล็กรวม 2 อาคารก่อน โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่จำเลยทั้งสองตามข้อตกลงงวดแรกของสัญญาทั้งสองฉบับเป็นเงิน 347,750 บาท ฝ่ายจำเลยทั้งสองเริ่มทำงานตามสัญญาทั้งสองฉบับตรงกับงวดงานที่สอง โดยจำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ ส่วนตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงานนั้น จำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการตามที่ระบุในสัญญาให้ได้เนื้องานร้อยละ 90 ของงวดงานที่สองโจทก์จึงจะจ่ายค่าจ้างให้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการตามที่โจทก์ว่าจ้างให้แล้วเสร็จในงวดงานที่สองและทิ้งงานไปเมื่อประมาณต้นปี 2541 โจทก์ติดตามให้จำเลยทั้งสองดำเนินงานต่อตามสัญญา แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว หลังบอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ต้องเข้าดำเนินงานแทนจำเลยทั้งสอง ค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองทิ้งงานเป็นเงิน 419,564.89 บาท กับเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญางวดงานที่ 1 อีก 347,750 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 767,314.89 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์เป็นเงิน 344,250 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายอนุรักษ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ทำสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้ากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า ของคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 121/2544 (คดีเดิม) และทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 ให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าตามสัญญาจ้างเหมาค่าแรงงาน (คดีเดิม) เมื่อเริ่มลงนามในสัญญาทั้งสองฉบับ จำเลยทั้งสองได้รับเงินจากโจทก์ไปจำนวน 344,250 บาท โดยฝ่ายจำเลยให้ธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนช้างเผือก ออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 2 ฉบับ มอบให้โจทก์ยึดถือไว้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 121/2544 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น จะต้องเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดี หรือประเด็นที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยจากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยรับฟังว่า สัญญาที่จำเลยที่ 1 นำไปอ้างเป็นเหตุฟ้องโจทก์เพื่อเรียกเงินตามเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสี่แยกสนามบิน เลขที่ 9611229 จำนวนเงิน 200,000 บาท ในคดีดังกล่าว เป็นการอ้างสัญญาเอกสาร (คดีเดิม) ตามงวดงานที่ 2 อันเป็นการเรียกให้ชำระเงินค่าวัสดุอุปกรณ์และเรียกให้ชำระค่าแรง ส่วนจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระในคดีนี้เฉพาะจำนวน 347,750 บาท ซึ่งเป็นประเด็นที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้า ตามสัญญาข้อ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การรับว่า ได้รับไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 โดยโจทก์จ่ายเงินดังกล่าวให้เป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาศรีดอนชัย เลขที่ 0773181 จำนวนเงิน 294,250 บาท และเช็คเลขที่ 0773187 จำนวนเงิน 50,000 บาท ดังนี้ มูลเหตุฟ้องร้องในคดีทั้งสองเป็นเงินคนละจำนวนโดยอาศัยสัญญาต่างข้อกัน ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่าการชำระเงินมีข้ออ้างจากสัญญาฉบับเดียวกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีผลทำให้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีทั้งสองเป็นอย่างเดียวกัน การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเพราะประเด็นในคดีเดิมและคดีนี้คือโจทก์หรือจำเลยผิดสัญญานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า เงินจำนวน 344,250 บาท ที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์เป็นเงินค่าจ้างล่วงหน้าและจำเลยทั้งสองจะต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญางวดที่ 2 จำเลยจะต้องดำเนินการสกัดแนวท่อ ฝังบล็อก วางท่อ ร้อยสายไฟฟ้า ต่อสาย ระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ พร้อมทั้งปิดฝากล่องเชื่อมสายไฟให้เรียบร้อย ทั้งจะต้องจัดทำระบบสายใต้ดินให้แล้วเสร็จร้อยละ 90 ของงาน แต่ได้ความจากนายอนุรักษ์และนายมานิตย์ว่า จำเลยทั้งสองทำงานไม่แล้วเสร็จ โดยทำงานไปได้เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่าย (คดีเดิม) ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบโดยแสดงหลักฐานการส่งมอบงานที่ถูกต้องตามสัญญาหักล้างพยานโจทก์ เพียงแต่มีนางปรียานุชเบิกความว่า งานร้อยสายไฟแล้วเสร็จประมาณร้อยละ 80 และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับมอบงานเมื่อเดือนธันวาคม 2540 แต่เอกสารดังกล่าวนั้นไม่มีงานระบบไฟฟ้าของโรงพยาบาลสัตว์เล็ก พยานหลักฐานโจทก์ในประเด็นนี้มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ฟังได้ว่าจำเลยมิได้ส่งมอบงานและดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามสัญญางวดที่ 2 โจทก์จึงชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยทั้งสองจำต้องให้ฝ่ายโจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปคืนแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีประเด็นวินิจฉัยต่อไปในเรื่องอายุความตามที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า อายุความฟ้องร้องของโจทก์ 10 ปี ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาทั้งสองฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของ เงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนจากจำเลยทั้งสอง ถือได้ว่าเป็นเงินที่โจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างให้ประกอบ การงานเรียกเอาคืนซึ่งเงินทดรองที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) จึงมีอายุความ 2 ปี หาใช่เรื่องที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะอันจะมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมาไม่ คดีนี้พิจารณาได้ความว่า โจทก์ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว สัญญาจึงเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 6 กรกฎาคม 2541 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่รับไปจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่สัญญาสิ้นสุด ซึ่งเมื่อคิดถึงวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 อันเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ